กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อขวัญใจมหาชน “มาม่า” ยืนยันจะไม่ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ แม้ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
วันนี้ (12 ม.ค.) นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป พบว่ายังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายการใดทำเรื่องขอปรับขึ้นราคามาที่กรมการค้าภายใน ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” ซึ่งเป็นสินค้ามวลชน เพราะได้รับนิยมจากผู้บริโภคนั้น ล่าสุดผู้บริหารของ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) ยืนยันกับกระทรวงพาณิชย์ว่า จะไม่ปรับขึ้นราคามาม่าซอง เพื่อเป็นการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
“ผู้ผลิตมาม่ายืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคา เพราะอยากจะเป็นผู้นำในการร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า แม้ว่าต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ทั้งราคาน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี แต่จะพยายามบริหารจัดการต้นทุนและเกลี่ยต้นทุนเอง เพื่อไม่ให้ต้องปรับขึ้นราคาจนกระทบกับผู้บริโภค ถือว่าเป็นข่าวดี และกระทรวงพาณิชย์จะแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อตรึงราคาสินค้า และลดค่าครองชีพให้กับประชาชนต่อไป” นางมัลลิกา กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายให้กรมการค้าภายในเร่งหารือกับผู้ผลิตสินค้ารายอื่นๆ ขอความร่วมมือตรึงราคาขายสินค้าต่อไป เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยให้เน้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อได้ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบสำคัญที่ปรับขึ้นมากตลอดปี 2564 ทั้งน้ำมันปาล์ม และแป้งข้าวสาลี แต่มาม่ายืนยันไม่ปรับขึ้นราคา จะใช้วิธีการบริหารจัดการภายในเพื่อลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ลงมา เพื่อคงราคาขายเดิมไว้
สำหรับต้นทุนภายนอกที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐที่บริษัทไม่สามารถบริหารจัดการได้เองนั้น ผู้บริหารของ “มาม่า” ขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล ทั้งการพิจารณาไม่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เพื่อเก็บภาษีเอดีสินค้าฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์ เพราะไม่เพียงกระทบต่อต้นทุนซองมาม่า แต่ยังกระทบต่อบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคชนิดอื่นๆ อีกมาก รวมทั้งทบทวนการเตรียมขึ้นภาษีความเค็มของกระทรวงการคลังที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายชนิดเช่นกัน