ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกมิติ
โครงการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4 ภาค คือหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อใช้เป็นฐานรองรับการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
โดยเฉพาะ โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ที่มุ่งเน้นสร้างรากฐานเศรษฐกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกลุ่มมวลชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอยู่บ้าง ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อรอผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA รวมถึงเน้นสื่อสารสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เผยว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าชิงความได้เปรียบในการวาง โครงสร้างแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เกี่ยวกับความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั้ง 4 ภาค
เป็นการต่อยอดนำร่องกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกภาคในประเทศโดยเร็วที่สุด
ต้องยอมรับว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีจีดีพีต่ำสุด จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งส่งเสริมอาชีพด้วยระบบเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้เป็นมาตรฐานสากล
เท่าที่ศึกษาผลงานวิจัยหลายสำนัก หากนิคมอุตสาหกรรมจะนะสร้างเสร็จควบคู่ไปกับระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อเขตพัฒนาพิเศษตะวันออกของไทย รวมไปถึงประเทศแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลางจะทำให้ภาคใต้มีศักยภาพสูงสุด พร้อมรองรับการลงทุนจากนานาประเทศ
ที่สำคัญประชาชนภาคใต้จะมีโอกาสปรับทิศทาง ด้านการเกษตรใหม่ ไปสู่ยุคเทคโนโลยีที่สามารถนำสินค้ามาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอาหารทะเล ฯลฯ
จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะนะ คือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน เป็นรูปแบบเครือข่าย มีพันธกิจดูแลต่อกันทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างต่อยอดในการพัฒนาประเทศ
สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจังก็คือเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จบการศึกษาใหม่ปีละ 3-4 หมื่นคน แต่ไม่มีงานในพื้นที่รองรับเพียงพอ
ทั้งนี้รัฐบาลและภาคเอกชนมีมติร่วมกันว่าจะเน้นการจ้างงานในพื้นที่ 5 จังหวัดเป็นหลัก ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส
ส่วนกรณีที่ ครม.ให้ชะลอโครงการฯไว้ก่อน คงไม่ส่งผลกระทบกับนักลงทุนมากนัก เพราะนักลงทุนเองก็เข้าใจถึงขั้นตอนกฎหมายไทยที่ต้องประเมินผลกระทบให้ครบถ้วน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อมทางสังคม
คาดว่าอีกไม่นานผลประเมินด้านสิ่งแวดล้อมคงเสร็จสิ้นเพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป โดยมีเอกชนไทยและต่างชาติเจรจาขอรายละเอียดและเข้าตรวจสอบพื้นที่จริงก่อนตัดสินใจ
เชื่อมั่นว่านิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะนะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง บนพื้นฐานของความเป็นจริง โปร่งใสทุกมิติ โดยมีชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่
ถือเป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้นและยั่งยืนต่อไป.
สุวิทย์ แก้วห่อทอง