หน่วยงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ยืนยัน พบเหตุฟ้าผ่าความยาวมากที่สุดในโลกเกือบ 800 กม. พาดผ่าน 3 รัฐในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังพบฟ้าผ่าที่คงอยู่เป็นเวลานานที่สุดอีกด้วย
สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุในวันอังคารที่ 1 ก.พ. 2565 ท่ีผ่านมาว่า เหตุฟ้าผ่าครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 29 เม.ย. 2563 ได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นเหตุฟ้าผ่าที่มีระยะทางยาวไกลสุดในโลกที่ 768 กม. พาดผ่าน 3 รัฐในสหรัฐฯ ได้แก่ มิสซิสซิปปี, ลุยเซียนา และเทกซัส แซงสถิติเดิมซึ่งเกิดขึ้นที่บราซิลในปี 2561 ไปราว 60 กม.
ฟ้าผ่าตามปกติมักจะมีความยาวไม่เกิน 16 กม. และคงอยู่เพียงเสี้ยววินาที อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ฟ้าผ่าอีกจุดซึ่งเกิดขึ้นในอุรุกวัยและอาร์เจนตินาคงอยู่นานที่สุดถึง 17.1 วินาที กลายเป็นสถิติใหม่ของโลก แซงหน้าสถิติเก่าซึ่งทำไว้ 16.7 วินาที
ตามการเปิดเผยของ WMO เหตุฟ้าผ่าทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดพายุซึ่งสามารถสร้างสายฟ้าขนาดใหญ่ หรือ ‘megaflash’ สูง ได้แก่ที่ราบ เกรตเพลนส์ (Great Plains) ในสหรัฐฯ และที่ลุ่มน้ำ ลา ปลาตา (La Plata) ในอเมริกาใต้
ศ.แรนดอล เซอร์เวนี ผู้เขียนรายงานสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั้วของ WMO ระบุว่า นี่เป็นสถิติที่ไม่ธรรมดาจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่า แต่เขาเชื่อว่าในอนาคตจะมีการตรวจจับเหตุการณ์สุดขั้วยิ่งกว่านี้ได้อีก เนื่องจากเทคโนโลยีตรวจจับฟ้าผ่าที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ WMO เตือนด้วยว่า ฟ้าผ่าเป็นอันตรายและเรียกร้องให้ประชาชนในภูมิภาคทั้งสองและทั่วโลก ระมัดระวังเวลาเกิดพายุ โดยในอดีตเคยเกิดเหตุเสียชีวิตหมู่เนื่องจากฟ้าผ่ามาแล้วหลายครั้ง เช่น ที่ซิมบับเวเมื่อปี 2518 มีผู้เสียชีวิตถึง 21 ศพ หรือที่ในปี 2537 ที่เมืองดรอนกา ของอียิปต์ ฟ้าผ่าใส่แท็งก์เก็บน้ำมันจนน้ำมันที่ติดฟ้าไหลเข้าท่วมเมือง มีผู้เสียชีวิตถึง 469 ศพ