คู่มือฉีดวัคซีนโควิดสำหรับเด็ก ข้อแนะนำ ผลข้างเคียง อาการที่พบได้ หลังฉีดวัคซีน

  • องค์การอนามัยโลก เผยความจำเป็นสำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก อายุ 5-11 ปี ชี้คนกลุ่มนี้ สามารถเสี่ยงรับเชื้อ แม้ไม่มีอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
  • ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำในการฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ ฝาส้มในเด็ก
  • การเตรียมความพร้อมก่อนฉีด และอาการที่มักพบได้ แต่ไม่รุนแรง หลังฉีดวัคซีน

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ออกแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก อายุ 5-11 ปี โดยวัคซีนที่จะนำมาฉีดนั้น ต้องเป็นวัคซีนไฟเซอร์ สูตรสำหรับเด็ก ฝาสีส้ม ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย

สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มในเด็กนั้น จะเป็นวัคซีนที่บรรจุสารเข้มข้น 1.3 มิลลิลิตร (cc) ต้องนำมาผสมน้ำเกลือปราศจากเชื้ออีก 1.3 มิลลิลิตร รวมเป็น 2.6 มิลลิลิตร โดย 1 ขวดฉีดได้ประมาณ 10 คน ซึ่งเด็ก 1 คน จะฉีดอยู่ที่ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม/โดส)

ความจำเป็น ฉีดวัคซีนโควิดให้เด็ก


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เผยถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-11 ปีว่า เด็กอายุ 5-11 ปี กำลังติดเชื้อโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความสามารถของเชื้อในการหลบกลไกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น และแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น กระทบคนจำนวนมากกว่า และเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักในสหราชอาณาจักร พบว่า อัตราการเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 ปี ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย แม้ว่าร้อยละ 12.7 จะต้องให้ออกซิเจน

ในประเทศแอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รายงานว่า ในผู้ติดเชื้อที่เข้าโรงพยาบาลรวมถึงกลุ่มที่อายุน้อยนั้น การติดเชื้อโควิดเป็นเพียงอาการร่วม หมายความว่า ผู้ป่วยปรากฏอาการของโควิด-19 แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล นี่แสดงให้เห็นว่า เด็กก็มีความเสี่ยงจากโควิด-19 และมีโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะร้ายแรง อาจต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และโควิด-19 อาจกระตุ้นให้อาการป่วยเรื้อรังที่มีอยู่เดิมนั้นแย่ลง หรือก่อให้เกิดอาการป่วยเฉียบพลัน

ขณะที่ประเทศไทยเอง มีแนวโน้มว่า โอมิครอน จะเข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักแทนที่เดลตาทั้งหมดในไม่ช้านี้ ซึ่งการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน มักไม่แสดงอาการ เราจึงมักไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่า โควิด-19 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวในทุกกลุ่มอายุ

ดังนั้น แม้เด็กส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ จะไม่มีอาการป่วย แต่พวกเขาก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลกลุ่มเสี่ยง หรือสมาชิกครอบครัวได้ ขณะที่เด็กบางคนก็อาจป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากติดโควิด-19 โดยตรง หรือเป็นเพราะโควิด ไปกระตุ้นอาการป่วยจากโรคเดิมให้รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็ก จึงมีความเสี่ยงไม่แพ้กับคนช่วงอายุอื่นๆ

ข้อแนะนำการฉีดวัคซีนในเด็ก

ขณะที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนในเด็ก ดังนี้

  • สำหรับเด็กอายุ 5 ปี ถึงอายุน้อยกว่า 12 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech ชนิดที่ได้รับการรับรองให้ฉีดในกลุ่มอายุนี้ ขนาด 10 ไมโครกรัม (0.2 มล.) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสองเข็มห่างกันอย่างน้อย 21 วัน ซึ่งข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุ 5 ถึงน้อยกว่า 12 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 มากกว่า 7 ล้านโดส พบว่ามีความปลอดภัยสูง พบเด็กยืนยันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 8 รายและส่วนใหญ่หายเป็นปกติดี
  • หากเด็กอายุ 5-11 ปี ได้รับวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) และมีอายุครบ 12 ปี หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยไฟเซอร์ สูตรสำหรับผู้ใหญ่ (ขนาด 30 ไมโครกรัม ฝาสีม่วง) อย่างไรก็ตาม หากได้รับเข็มที่ 2 ขนาด 10 ไมโครกรัม ก็ให้ถือว่า ผู้นั้นได้รับวัคซีนครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ หรือฉีดเข็มกระตุ้น
  • เด็กที่เคยมีการติดโรคโควิด-19 มาแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพียงหนึ่งเข็ม โดยเว้นระยะเวลาอย่างน้อยสามเดือนเมื่อหายดีจากโรคโควิด-19
  • ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม ครบแล้ว 2 เข็ม แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองตามช่วงอายุอีก 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ภายหลังการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

อาการที่พบได้ หลังฉีดวัคซีน

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer-BioNTech ขนาด 10 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์เฟส 2/3 ในเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปีจำนวน 1,517 รายที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวจำนวนสอง เข็มในระยะเวลาห่างกัน 21 วันเทียบกับกลุ่มที่ได้ placebo จำนวน 751 ราย พบว่ามีประสิทธิผลของวัคซีนในการ ป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการและมีผลการตรวจยืนยันการติดเชื้อภายหลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มในระยะเวลาตั้งแต่ 7 วันเป็นต้นไป 90.7% (95% CI 67.7 ถึง 98.3) ระดับ geometric mean titer (GMT) ของ neutralizing antibody 50% ที่ระยะเวลาหนึ่งเดือนภายหลังการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปีจำนวน 264 ราย (ฉีด วัคซีน Pfizer 10 ไมโครกรัม) ที่ 1197.6 (95% CI 1106.1-1296.6)

สำหรับในเด็กโตและผู้ใหญ่อายุ 16-25 ปีจำนวน 253 ราย (ฉีดวัคซีน Pfizer 30 ไมโครกรัม) มีค่า GMT 1146.5 (95% CI 1045.5-1257.2) และ geometric mean ratio ในกลุ่ม 5-11 ปีเทียบกับ 16-25 ปีมีค่า 1.04 (95% CI 0.93-1.18) พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย

อาการข้างเคียงเฉพาะที่ของการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็กจากการศึกษาดังกล่าวมักมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบได้มีดังนี้

  • เจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีนบ่อยที่สุด (71-74%)
  • อาการอ่อนเพลีย (0.9%)
  • อาการปวดศีรษะ (0.3%) บ่อยที่สุด


ทั้งนี้ ยังไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรงจากการฉีดวัคซีนวัคซีนในการศึกษาดังกล่าว เป็นไปได้ว่าจำนวน ประชากรเด็กที่ได้รับวัคซีนจริงยังมีจำนวนน้อยเกินกว่าที่จะสามารถตรวจจับผลข้างเคียงจากวัคซีนได้ ดังนั้น ยังจำเป็นต้องติดตามข้อมูลด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงของวัคซีนในประชากรกลุ่มเด็กจากการฉีดจริงต่อไป

ด้าน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผยข้อแนะนำสำหรับเด็กทั่วไป และเด็กที่มีโรคประจำตัว ว่า ก่อนที่จะฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว, พักผ่อนให้เพียงพอ, หากมีไข้ ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป 1-2 สัปดาห์, หากมียาประจำสามารถกินได้ตามปกติ และหลีกเลี่ยงความเครียด หรือวิตกกังวล ซึ่งก่อนที่จะทำการฉีดได้นั้น ผู้ปกครองจะต้องลงชื่อในใบยินยอมล่วงหน้า ขณะที่ในวันที่จะฉีดวัคซีน จะต้องนำบัตรประชาชน หรือสูติบัตร (อายุต่ำกว่า 7 ปี) ให้พร้อม โดยวันที่ฉีดวัคซีนสามารถรับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม หลังการฉีดวัคซีน หากพบอาการรุนแรง ซึ่งพบได้ไม่บ่อย เช่น ผื่นลมพิษหลังฉีดทันที แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบ เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ใจสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ชัก หมดสติ เป็นต้น ควรรีบนำตัวส่งแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน

ขณะที่ข้อมูลการฉีดวัคซีนของเด็ก จะถูกส่งเข้าไปยังข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบ “หมอพร้อม”

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun