ธารน้ำแข็งบนยอดเอเวอรเรสต์ซึ่งต้องใช้เวลาสะสมกว่า 2,000 ปีละลายหายไปในเวลาเพียง 25 ปี
ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมนในสหรัฐเผยสถานการณ์ที่น่าหวั่นวิตกของธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่สูงที่สุดในโลกว่ากำลังละลายอย่างรวดเร็ว
ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ธารน้ำแข็งเซาท์คอล (South Col Glacier) ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 7,906 เมตร บางลง 54.86 เมตรในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หรือละลายเร็วกว่าการสะสมตัวของน้ำแข็ง 80 เท่า ขณะที่อัตราการสะสมของน้ำแข็งในความหนาดังกล่าวต้องใช้เวลานานกว่า 2,000 ปี
ทีมวิจัยยังพบอีกว่า ทุ่งหิมะที่เกิดจากการทับถมกันบนธารน้ำแข็งถูกกัดเซาะออกไปด้วย ส่งผลให้น้ำแข็งที่อยู่ด้านล่างถูกแสงแดดมากขึ้นซึ่งเป็นตัวเร่งกระบวนการการละลายให้เร็วขึ้นไปอีก
นักวิจัยระบุว่าการแข็งที่ละลายเร็วเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและกระแสลมแรง
งานวิจัยชิ้นนี้อาศัยข้อมูลจากภารกิจสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ของ National Geographic และ Rolex เมื่อปี 2019 ที่ส่งนักวิทยาศาสตร์ 10 คนไปสำรวจธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่อยู่ทางฝั่งประเทศเนปาล พร้อมทั้งติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ 2 สถานี และสกัดตัวอย่างแกนน้ำแข็ง
การหาอายุวัตถุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีพบว่าน้ำแข็งบริเวณพื้นผิวมีอายุราว 2,000 ปี ซึ่งหมายความว่าน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมาละลายไปหมดแล้ว ทั้งยังเป็นการยืนยันว่าธารน้ำแข็งบนยอดเขาสูงที่สุดในโลกได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือมนุษย์มาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990
พอล มาเยฟสกี หัวหน้าคณะสำรวจเรยีกผลการวิจัยดังกล่าวว่าเป็น “สัญญาณเตือนที่แท้จริง” ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบแม้กระทั่งกับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และเตือนว่า “ตอนนี้เรามีหลักฐานแล้วว่าแม้แต่ธารน้ำแข็งที่สูงที่สุดบนภูเขาที่สูงที่สุดในโลกกำลังสูยเสียน้ำแข็งไปอย่างรวดเร็ว”
ทั้งนี้ ประชาชนราว 1 ล้านคนต้องพึ่งพาน้ำดื่มจากธารน้ำแข็งของเทือกเขาหิมาลัย หากธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และยังสะเทือนไปถึงนักปืนเขาที่จะต้องเจอกับน้ำแข็งลื่นๆ ทำให้ปีนป่ายยากขึ้น
REUTERS/Phurba Tenjing Sherpa/Files