สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย “โรคมะเร็งปอด” ภัยร้ายคร่าชีวิต! เช็กสัญญาณเตือน-ปัจจัยเสี่ยง-วิธีการรักษา

  • โรคมะเร็งปอด พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย
  • เช็กสัญญาณเตือน อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็น “โรคมะเร็งปอด”
  • วิธีการรักษา “โรคมะเร็งปอด” ปัจจุบันมีตัวเลือกในการรักษามากขึ้นกว่าในอดีต

เมื่อพูดถึง “มะเร็งปอด” ถือเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เพราะไม่เพียงแต่เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเท่านั้น แต่อัตราการรอดชีวิตยังต่ำอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยในระยะลุกลาม อีกทั้งมะเร็งปอดยังแสดงอาการบางอย่างที่ใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัส “โควิด-19” และ “วัณโรค” เช่น ไอเรื้อรัง, หายใจลำบาก ทำให้แพทย์ต้องวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน และเลือกแนวทางการรักษาที่ตรงจุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตต่อไปได้

ทางด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย โดยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง ส่วนการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง ส่วนสาเหตุสำคัญ ได้แก่

1. การสูบบุหรี่ รวมถึงยามวนต่างๆ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด

2. ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง, โครงสร้างอาคาร, ผ้าเบรก, ฉนวนกันความร้อน ผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

3. สาเหตุอื่นๆ มลภาวะเช่น PM 2.5, สารเบนซิน, ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวนมาก ไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่ หรือ แอสเบสตอส มาก่อน

ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางการคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติมักจะเป็นโรคในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และ มีอัตราตายสูง วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันจึงเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

สัญญาณเตือนอาจป่วย “โรคมะเร็งปอด”

ทางด้าน นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่ ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์, ไอเป็นเลือด, มีเสมหะปนเลือด, เจ็บหน้าอก, น้ำหนักลด, เหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, เบื่ออาหาร บางรายอาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก ซึ่งจริงๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด

ทั้งนี้ หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การวินิจฉัยทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์มะเร็งเช่นการตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง, ระยะโรคและการลุกลาม, ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก

ขณะที่ มะเร็งปอด จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ตามพยาธิสภาพของมะเร็ง คือ “ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก” (Small Cell Lung Cancer – SCLC) และ “ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก” (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC) โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งปอด ชนิดเซลล์ขนาดเล็กพบอยู่เพียง 10-15% ของผู้ป่วย ในทางกลับกัน ชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็กกลับพบมากถึง 80-85% ส่วนผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอดมาก่อน หรือไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดได้ โดยมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก ในบรรดาการกลายพันธุ์ของยีนทั้งหมด พบว่าการกลายพันธุ์ประเภท Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) มีโอกาสพบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชียที่ไม่สัมผัสกับควันบุหรี่ พบยีนกลายพันธุ์ EGFR ถึง 50% เมื่อเทียบกับยีนกลายพันธุ์ประเภทอื่น

วิธีการรักษา “โรคมะเร็งปอด”

ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ มีตัวเลือกในการรักษามะเร็งปอดมากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาแบบมุ่งเป้าที่สามารถออกฤทธิ์ไปที่เซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งการรักษาด้วยยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม คือเมื่อให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดกับผู้ป่วย พบว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตลงถึง 41% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด นอกจากนี้การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดยังช่วยเลี่ยงการเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ผมร่วง, คลื่นไส้, อาเจียน และภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

รวมทั้งยังมีการรักษาแบบ ภูมิคุ้มกันบำบัดผสมผสาน ซึ่งเป็นการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ ยาต้านการสร้างหลอดเลือด พบว่านอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองและยืดระยะเวลาตอบสนองต่อยาแล้ว การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดผสมผสานยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับแนวทางการรักษานี้ เป็นตัวเลือกที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะลุกลามที่ไม่มียีนกลายพันธุ์ และผู้ป่วยที่ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งได้รับยามุ่งเป้าแล้วเกิดอาการดื้อยา ซึ่งการพิจารณาแนวทางการรักษาต้องอาศัยดุลพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องคำนึงถึงปัจจัยจากโรคและปัจจัยจากผู้ป่วย เช่น ระยะของโรค, ตำแหน่ง, ขนาดของก้อนเนื้อ, สภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน

สุดท้ายนี้ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน, มลภาวะ, หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง, รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญคือการรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ สามารถช่วยลดความรุนแรงจากการเกิดโรคได้.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB