จากไปอย่างสงบ “นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” นายแพทย์นักธรรมชาติบำบัด ผู้ก่อตั้งศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี คร่ำหวอดในศาสตร์แห่งธรรมชาติบำบัดการแพทย์ทางเลือกและผสมผสานมานานกว่า 40 ปี รวมถึงเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อผู้ป่วยมะเร็งมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะมะเร็งปอด
“นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” ได้รังสรรค์ผลงานด้านการดูแลสุขภาพดีด้วยธรรมชาติบำบัด โดยนำประสบการณ์การใช้การแพทย์สาขาต่าง ๆ อย่างบูรณาการมาถ่ายทอดให้แก่คนไข้และคนทั้งประเทศไทย
จนปัจจุบันองค์ความรู้หลักๆ ของการแพทย์ธรรมชาติบำบัดได้พัฒนามาได้กลายเป็นวิถีสุขภาพแบบ Wellness ที่ไร้ขอบเขต
- อาลัย “นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล”แพทย์ผู้มุ่งมั่นรักษามะเร็งปอด
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565 นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่วงการแพทย์ของเมืองไทยได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลผู้มากความสามารถอย่าง “นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” ที่ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในวัย 71 ปี 9เดือน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การจากไปของ “นพ. บรรจบ” ได้สร้างความเศร้าเสียใจให้กับลูกหลาน และคณาจารย์ลูกศิษย์ลูกหาทั่วทั้งประเทศ
ด้วยตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของ “นพ.บรรจบ” ได้ฝากผลงานด้านวิธีธรรมชาติบำบัดเป็นที่ประจักษ์มากมาย โดยภารกิจสำคัญสุดท้าย คือ การรณรงค์เรื่องอากาศสะอาด PM 2.5 สาเหตุสำคัญของมะเร็งปอด
- เปิดประวัติ”นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล”
“นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล, ประกาศนียบัตรเวชกรรมฝังเข็ม สถาบันแพทยศาสตร์ ตงจื่อเหมิน ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประกาศนียบัตร Homeopathy, American Board in Nutrition & Wellness., อว. (เวชศาสตร์ครอบครัว) แพทยสภา, กรรมการสมาคมโฮมีโอพาธีย์แห่งประเทศไทย เคยดำรงค์ตำแหน่งเป็นคณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เป็นแพทย์นักเขียนที่ฝากผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือแนวสุขภาพและหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติบำบัดไว้มากกว่า 100 ปก ไม่ว่าจะเป็น 20 กลลวงอนามัย รู้ทันก่อนสาย เล่ห์ร้ายใกล้ตัว, โฮมีโอพาธีย์ ธรรมชาติบำบัดเปลี่ยนชีวิต, สุขภาพดีไม่มีขาย แต่สร้างได้ด้วยตัวเอง, มะเร็งเสริมรักษา เคมี-รังสีบำบัดด้วยธรรมชาติวิธี เป็นต้น
นพ.บรรจบ เป็นแพทย์ที่ได้ต่อสู้เพื่อผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์บูรณาการอย่างยาวนาน และต้องการป้องกันผู้คนไม่ให้เป็นมะเร็ง ผ่านการดูแล อาหาร อากาศ อารมณ์
ทั้งนี้ สำหรับกำหนดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมอุทิศบุญ แด่ “นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล” จะมีการถ่ายทอดสดการสวดพระอภิธรรม ผ่านยูทูป (youtube) ช่องเป็นบุญวัดป่าพุทธพจน์ เริ่มเวลา 19.00 น.
- สัญญาณเตือน “โรคมะเร็งปอด” คร่าชีวิตคนไทย
“โรคมะเร็ง” ถือเป็นโรคที่พบในจำนวนมากไม่ว่าจะในเพศชายหรือเพศหญิง ซึ่ง “มะเร็งปอด”เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย โดยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง
ทั้งนี้ มะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุดในคนไทย 5 อันดับ ประกอบด้วย มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชายและหญิง
เมื่อแบ่งออกตามเพศชายหรือหญิงจะพบว่า โรคมะเร็งที่พบในชายไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 173.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 16 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในชายไทยมากที่สุด ประกอบด้วย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 33.2
- มะเร็งปอด : 22.8
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 18.7
- มะเร็งต่อมลูกหมาก : 7.7
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง : 6.6
ส่วนโรคมะเร็งที่พบในหญิงไทย (ข้อมูลปี 2563) พบวันละ 159 คนต่อประชากร 100,000 คน (อันดับที่ 15 ของทวีปเอเชีย) โดย 5 ชนิดมะเร็งที่พบในหญิงไทยมากที่สุด ประกอบด้วย
- มะเร็งเต้านม : 34.2
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง : 13.3
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี : 12.2
- มะเร็งปอด : 11.5
- มะเร็งปากมดลูก : 11.1
- อาการเบื้องต้น เสี่ยงโรคมะเร็งปอด
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญ ที่อาจจะทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด มีดังนี้
1.การสูบบุหรี่รวมถึงยามวนต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด
2.ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่นการก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน ผู้เสี่ยงคือผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแอสเบสตอสปนเบื้อนเป็นเวลานาน อาจใช้เวลา 15-35 ปี ในการทำให้เกิดมะเร็งปอด สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแอสเบสตอส อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า
3.สาเหตุอื่นๆ มลภาวะเช่น PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ เป็นต้น
ส่วนอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่
- ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
- ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก
- น้ำหนักลด
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ
- มีปอดติดเชื้อซ้ำซาก
จริงๆแล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดอาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด
หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การวินิจฉัย ทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลมะเร็งเช่นการตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ
เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรคและการลุกลาม ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก
- โรคมะเร็ง รักษาได้แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยโรค
โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ระยะโรค ชนิดเซลล์มะเร็ง สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายได้หรือไม่ อายุ และที่สำคัญคือ สุขภาพของผู้ป่วย
โดยในส่วนของ โรคมะเร็งปอดนั้น จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอด อาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด หากมีอาการสงสัยต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
การวินิจฉัย ทำโดยการถ่ายภาพรังสีปอด (X-ray หรือ CT scan) ร่วมกับการตรวจหาเซลล์มะเร็ง เช่น การตรวจจากเสมหะ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากปอดมาตรวจ เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งปอดแน่นอนแล้วแพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรคและการลุกลาม ความแข็งแรงของผู้ป่วยเป็นหลัก
สำหรับการรักษามีทั้งการผ่าตัด การใช้ยา การฉายแสง หรือรักษาร่วมกันหลายวิธี เนื่องจากมะเร็งปอดการตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราตายสูง
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น งดสูบบุหรี่ ป้องกันตัวจากการสัมผัสแร่ใยหิน หรือมลภาวะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย และรีบมาพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
- เช็คสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่แตกต่างกันแต่ละประเภท โดยมีมะเร็งที่เพศหญิง และเพศชาย ควรได้รับการตรวจคัดกรองตามช่วงอายุ ดังนี้
- มะเร็งปาดมดลูก : เพศหญิง ควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 21 ปี ขึ้นไป และตรวจทุก ๆ 3 ปี
- มะเร็งเต้านม : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี
- มะเร็งต่อลูกหมาก : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และตรวจทุกปี แต่หากผู้ที่มีครอบครัวแล้วให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปี
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ : ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปี ในทุกปี และทุก 5 ปี หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ให้เริ่มตรวจที่อายุของญาติที่พบโรคลบด้วย 10 ปี โดยจะต้องเริ่มตรวจไม่ช้ากว่าอายุ 50 ปี