นักวิเคราะห์เตือนปูตินยังมี ‘เป้าหมายต่อไป’ ซึ่งไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน
สงครามในยูเครนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้ว ขณะที่หลายฝ่ายเตือนว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียอาจไม่หยุดแค่ยูเครน โดยก่อนหน้านี้แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอ้างถึงภาพถ่ายทางดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่ารัสเซียกำลังระดมกองกำลัง อาวุธยุทโธปกรณ์ และปืนใหญ่ตามแนวชายแดนของเบลารุส ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนโปแลนด์ไปทางตะวันออกเพียง 10 ไมล์
เมื่อถูก เดวิด เมียร์ ของ ABC News ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ปูตินจะไปไกลกว่ายูเครน บลิงเคนตอบว่า “แน่นอนว่ามันเป็นไปได้”
เช่นเดียวกับประธานาธิบดีกิตานัส นาวเซดา ของลิทัวเนีย ซึ่งกล่าวกับบลิงเคนว่าปูตินจะไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือยูเครน ก่อนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับโลก หรือสงครามโลกครั้งที่ 3
ขณะที่บลิงเคนเน้นย้ำถึงมาตรา 5 ภายใต้สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือของ NATO “มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะไม่หยุดอยู่แค่ยูเครน แต่มีบางสิ่งที่ทรงพลังมากที่ขวางทางสิ่งนั้น และมันคือสิ่งเราเรียกว่ามาตรา 5 หมายความว่า การโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิก NATO คือการโจมตีทุกประเทศที่เป็นสมาชิก NATO ประธานาธิบดี (โจ ไบเดน) มีความชัดเจนมากว่าเราจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดน NATO”
ล่าสุด อาเดรียโน โบโซนี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ของ Rane บริษัทด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงกล่าวกับ CNBC โดยเตือนว่าปูตินอาจกำลังพิจารณาเป้าหมายต่อไปของเขา ซึ่งก็คือ “มอลโดวา” ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครน
“หากความขัดแย้งขยายออกไปนอกยูเครน มอลโดวาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด”
ทว่า มอลโดวาไม่ได้เป็นสมาชิกของ NATO และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป (EU) เช่นเดียวกับยูเครน แม้ว่าจะมีความพยายามจะเป็นทั้งสองอย่าง แต่ก็อยู่ในสถานการณ์คล้ายกับยูเครนคืออดีตสาธารณรัฐโซเวียตแห่งนี้มีประชากรกลุ่มแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทรานส์นิสเตรียบริเวณชายแดนยูเครน
ทรานส์นิสเตรีย ปกครองโดยผู้นำที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย โดยขณะนี้รัสเซียได้รวบรวมกำลังพลในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว 1,500 นาย
โบโซนีมองว่าปูตินอาจรับรองภูมิภาคดังกล่าวเป็นรัฐอิสระก่อนที่จะทำการบุกประเทศ เช่นเดียวกับที่เขาทำกับโดเนตสก์และลูฮันสก์ ก่อนที่จะเปิดปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบในยูเครน หรืออาจสร้างสถานการณ์บางอย่างเพื่อเปิดทางให้เข้าไปแทรกแซง
“สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่รัสเซียยังไม่รับรองสถานะรัฐอิสระของทรานส์นิสเตรีย อย่างที่ทำกับโดเนตสก์และลูฮันสก์ เมื่อไรก็ตามที่รัสเซียทำเช่นนั้นมันจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าพวกเขากำลังคิดที่จะนำความขัดแย้งไปยังมอลโดวา” โบโซนีกล่าว
นอกจากนี้การบุกมอลโดวาอาจเป็นอีกทางหนึ่งที่รัสเซียจะสามารถเปิดประตูไปสู่พรมแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนได้ โดยปูตินอาจกำลังมองหาแผนสองขณะที่รัสเซียยังไม่สามารถยึดกรุงเคียฟได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่แน่ชัดว่าปูตินกำลังวางแผนกลยุทธ์ดังกล่าวในมอลโดวา ซึ่งโบโซนีอธิบายว่ามันเป็นสถานการณ์ที่มีความน่าจะเป็นต่ำ แต่ความเสี่ยงสูง เพราะหากรัสเซียทำเช่นนั้นจะนำพาความทุกข์ยากไปยังผู้อยู่อาศัยในมอลโดวา 2.6 ล้านคน และยังมีผู้ที่อพยพไปจากยูเครนราว 350,000 คน
ขณะที่คลินตัน วัตตส์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศแห่งการต่อต้านของมอลโดวามองว่าหากมอลโดวาตกอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกับยูเครนพวกเขาอ่อนแอมาก และจะมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
ทั้งนี้ มอลโดวาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในยุโรปโดยพิจารณาจาก GDP ต่อหัว และมีขีดความสามารถทางการทหารน้อยกว่ายูเครนมาก
รายงานระบุว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง มอลโดวาอาจเผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายกับยูเครน คือถูกขังอยู่ในความขัดแย้งกับมหาอำนาจระดับโลก ในขณะที่พันธมิตรตะวันตกเฝ้าดูจากข้างสนาม
ขณะที่มอลโดวาน่าเป็นห่วงกว่าอดีตชาติในสหภาพโซเวียตอื่นๆ อย่างลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ซึ่งต่างกังวลถึงความมั่นคงของตนขณะที่ภัยคุกคามจากรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น แต่ทั้ง 3 ประเทศเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและ NATO
“ตอนนี้เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะรู้สึกปลอดภัย” ประธานาธิบดีไมอา ซานดู ของมอลโดวากล่าวกับบลิงเคนระหว่างการประชุมเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
Photo by REUTERS/Michael Klimentyev/RIA Novosti/Kremlin