1 กันยายน ‘สืบ นาคะเสถียร’ ครบ 31 ปีนักอนุรักษ์ผู้แลกด้วยชีวิต

วันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวัน “สืบ นาคะเสถียร” เพื่อรำลึกถึงการจากไปของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ในวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้สะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการ หันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” ได้ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม เนื่องในวันสำคัญนี้ชวนมารู้จักประวัติและลำดับชีวิตของชายคนนี้ให้มากขึ้น

1. สืบ นาคะเสถียร เป็นหนุ่มเมืองปราจีนบุรี

สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของ นายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน

2. ชีวิตวัยเด็ก โดดเด่นเรื่องดนตรีและการวาดภาพ

ปี 2502 สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบ นาคะเสถียร ได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

3. ช่วงชีวิตวัยหนุ่ม ศึกษาจบจากคณะวนศาสตร์

ปี 2510-2514 สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35

ปี 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

4. ทำงานที่แรก ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว

ปี 2518 สืบ นาคะเสถียร สอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี

5. ได้ทุนเรียน ป.โท ประเทศอังกฤษ

ปี 2522 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา

ปี 2524 สืบ นาคะเสถียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

ปี 2528 สืบ นาคะเสถียร เดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับ ดร.แซนโดร โรวาลี ที่ “ดอยม่อนจอง” ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่ สืบ นาคะเสถียร เป็นอย่างมาก

6. เหตุการณ์ “เขื่อนเชี่ยวหลาน” สืบลงพื้นที่ช่วยสัตว์ป่าหนีน้ำท่วม

ปี 2529 สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร รู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาล ที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบ นาคะเสถียร ได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย

ปี 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบ นาคะเสถียร ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

ปี 2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนนักอนุรักษ์ ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร ได้อภิปรายว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษา ก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน”

7. รับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ห้วยขาแข้งเพียง 1 ปีก่อนเสียชีวิต

ปี 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สืบ นาคะเสถียร พบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย

สืบ จึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอ “ยูเนสโก” เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

ปีถัดมา ในวันที่ 1 กันยายน 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้กระทำอัตวิบาตรกรรมดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ **ทางอช.แม่วงก์ไม่ส่งเสริมการทำอัตวิบาตรกรรมแต่อย่างใด** แต่ตั้งใจจะสะท้อนและสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร

อ้างอิง : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร