ยอดติดเชื้อโควิดของไทยรวมเอทีเคแล้ว 2.5 หมื่น ชี้แนวโน้มป่วยทรงตัวค่อยๆลด แต่ยอดเสียชีวิตสูงหลักร้อยกว่าต่อเนื่องมา 19 วัน ส่งผลที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนแผนให้แยกการเสียชีวิตเป็น 2 แบบคือ เสียชีวิตเพราะติดเชื้อโควิดล้วนๆกับเสียชีวิตเพราะมีโรคร่วม ศบค.วอนประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และเผยจังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบมากสุดได้แก่ กทม.ส่วนการเข้าประเทศลดขั้นตอนไม่โละไทยแลนด์พาส
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรคในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ไทยว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 14,437 ราย และพบผู้มีผลบวกจากการตรวจหาเชื้อแบบ ATK รวม 11,396 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้รวม 25,833 ราย อยู่ระหว่างรักษา 158,768 ราย อาการหนัก 1,827 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 850 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 127 ราย เป็นชาย 69 ราย หญิง 58 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 101 ราย มีโรคเรื้อรัง 20 ราย
พญ.สุมนีกล่าวว่า ทิศทางการติดเชื้อในไทยขณะนี้ถือว่าค่อยๆ ลดลงแนวโน้มยังทรง ลดลงอย่างช้าๆ เป็นเพราะความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตนเอง แม้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เราคาดการณ์ไว้ว่ายอดผู้ติดเชื้อจะสูง แต่เพราะความร่วมมือทำให้การติดเชื้อน้อยลง หากสถานการณ์ดีขึ้นเช่นนี้เรื่อยๆ จะผ่อนคลายกิจการกิจกรรมต่างๆให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามแผนที่วางไว้ ขณะที่แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังทรงตัวมีผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยรายมา 19 วันแล้ว ที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขได้หารือถึงรายละเอียดของผู้เสียชีวิต จากนี้จะต้องวิเคราะห์การเสียชีวิตเป็น 2 ส่วน คือ เสียชีวิตจากโควิด-19 กับเสียชีวิตจากโรคร่วมและตรวจพบเชื้อในภายหลัง โดยผู้เสียชีวิตวันนี้จาก 127 ราย เป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 66 ราย หรือ 52% เสียชีวิตจากโรคร่วม 61 ราย หรือ 48% แต่ทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ควรแยกให้ชัดเจน
พญ.สุมนีกล่าวต่อว่า ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุด ได้แก่ กทม. 160 ราย นครราชสีมา 87 ราย ขอนแก่น 77 ราย กาญจนบุรี 71 ราย สมุทรปราการ 59 ราย สุพรรณบุรี 58 ราย อุบลราชธานี 56 ราย นนทบุรี 49 ราย อุดรธานี 48 ราย พิษณุโลก 46 ราย โดยแนวโน้มอัตราครองเตียงลดลงอยู่ที่ 24.1% จากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่กว่า 30% นอกจากนี้ สำหรับตัวเลขการฉีดวัคซีนในปัจจุบันมีผู้ฉีดเข็มสามไปแล้วจำนวน 36.9% แต่การจะเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น ผู้ฉีดวัคซีนเข็มสามต้องเกิน 60% ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดการแพร่ระบาดและไม่ให้โรคกลายพันธุ์ จะได้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นไวขึ้น
เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนเรื่องไทยแลนด์พาสและมีกระแสข่าวยกเลิกไทยแลนด์พาส พญ.สุมนี กล่าวว่า ไทยแลนด์พาสเป็นระบบที่เมื่อนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเข้ามา จะต้องลงทะเบียนผ่านระบบนี้ แต่จากการมาตรการที่เราผ่อนคลาย มีการยกเลิกเทสต์แอนด์โก ทำให้ไม่มีขั้นตอนการจองโรงแรมและจองตรวจ RT-PCR ทำให้ระบบดำเนินการได้เร็วขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ไวขึ้น แต่การลงทะเบียนยังคงมีอยู่ไม่น่าจะมีปัญหาหรือติดขัดอะไร หลังจากวันที่ 1 พ.ค.ที่เริ่มมาตรการ ศบค.ต้องติดตามหน้างานเป็นระยะ ถ้าดีขึ้นเราจะได้ดำเนินการตามแผนผ่อนคลายต่อไป
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก สวมท่อช่วยหายใจ ลดลงเรื่อยๆ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต แนวโน้มคงที่ เป็นสัญญาณที่ดีว่า สถานการณ์อาจจะดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นไปตามแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่ประชาชนยังไม่ควรประมาท ขอให้ป้องกันตนเองขั้นสูงสุด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง
นพ.เอกชัยกล่าวต่อว่า จากการสำรวจอนามัยโพลถึงพฤติกรรมการป้องกันตัวเองตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ ระหว่างสงกรานต์และหลังสงกรานต์ ของประชาชน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง พบว่ามีประชาชนทำครบทั้ง 3 ด้าน ช่วงก่อนสงกรานต์ ร้อยละ 81.2 ระหว่างสงกรานต์ เพิ่มเป็นร้อยละ 84.1 แต่หลังสงกรานต์ลดลงเหลือร้อยละ 80.6 การสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อมีคนอื่นอยู่ในบ้านพบว่าช่วงสงกรานต์ทำได้ร้อยละ 76.7 หลังสงกรานต์ลดลงเหลือร้อยละ 72.1 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 28 ไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา ให้เหตุผลว่า เนื่องจากไว้ใจคนในครอบครัว หายใจลำบาก คนในบ้านติดเชื้อหมดแล้ว สำหรับพฤติกรรมหลังสงกรานต์ พบว่า ร้อยละ 80 มีการสังเกตอาการตัวเองว่าจะติดเชื้อโอมิครอนหรือไม่ ร้อยละ 40 งดกินข้าวร่วมกับคนอื่น ร้อยละ 18 ทำงานที่บ้าน นอกนั้นส่วนใหญ่ทำงานในที่ทำงาน
นพ.เอกชัยกล่าวด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าเมื่อติดเชื้อโควิด-19 กันทั้งบ้านแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาก เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะเราอาจได้รับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆเข้ามาได้อีก ขณะที่ติดเชื้อโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย มีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเชื้อกันในครอบครัว อาจจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นได้ ดังนั้นไม่ว่าจะติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ เมื่อมีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา
ส่วนที่ จ.ลำปาง ยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อเนื่องทุกวัน โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ทีม Scot กู้ภัยสว่างนครลำปาง รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 4 รายจาก รพ.เกาะคา 2 ราย เป็นชายอายุ 65 ปี ชาว อ.ห้างฉัตร และหญิงอายุ 86 ปี ชาว อ.แม่ทะ จาก รพ.ลำปาง 2 ราย เป็นชายอายุ 61 ปี ชาว ต.กล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง หญิงอายุ 80 ปี ชาว อ.งาว มีคิวเผาร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ร่างพร้อมกัน แต่มีเตาที่เผาศพได้เพียง 3 เตา และยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิดที่รอการเผาอยู่อีก 8 ศพที่ต้องเผาระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-3 พ.ค. ที่สุสานร่องสามดวง ทำให้ศพผู้เสียชีวิตจากโควิดทั้งหมดต้องรอเผาตามคิว โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยเพียงแต่ไปรับศพมาดำเนินการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
ที่ จ.นครราชสีมาพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,260 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 11 ศพ อำเภอที่มีผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดคือ อ.โนนสูง 270 ราย และมี 6 อำเภอที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ มี อ.พิมาย ด่านขุนทด ขามทะเลสอ ห้วยแถลง บัวลาย เทพารักษ์ ส่วนผู้เสียชีวิต 11 ศพ มี 1.หญิงอายุ 16 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมา ป่วยเป็นมะเร็งสมองและติดเชื้อโควิดเสียชีวิต 2.ชายอายุ 71ปี ชาว อ.สีดา มีโรคประจำตัวและฉีดวัคซีน 2 เข็ม 3.หญิงอายุ 61 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมา มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 4.หญิงอายุ 80 ปี ชาว อ.ด่านขุนทด มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีน 2 เข็ม 5.ชายอายุ 98 ปี ชาว อ.ปักธงชัย มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 6.หญิงอายุ 73 ปี ชาว อ.หนองบุญมาก มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 7.หญิงอายุ 71 ปี ชาว อ.ชุมพวง มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 8.ชายอายุ 71 ปี ชาว อ.บ้านเหลื่อม มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 9.ชายอายุ 76 ปี ชาว อ.โนนแดง มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 10.หญิงอายุ 72 ปี ชาว อ.ชุมพวง มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน 11.ชายอายุ 91 ปี ชาว อ.คง มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติรับวัคซีน
ที่ห้องประชุมไกรลาส ที่ว่าการอำเภอเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นอภ.เบตง เป็นประธานประชุมคณะทำงาน ศปก.อ.เบตง ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอำเภอเบตง เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรไทย ผ่านช่องทางด่านเบตง โดยมีคณะทำงาน ศปก.อ.เบตงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยและสาธารณสุขประจำด่านบูเก็ตบือราเป็ต เปิงกาลันฮูลู ประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำด่านบูเก็ตบือราเป็ต เปิงกาลันฮูลู ประเทศมาเลเซีย ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการการเดินทางเข้ามาเลเซีย สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน Mysejahtera ผ่านสมาร์ทโฟนก่อนเดินทางและปฏิบัติตามมาตรการการเข้าประเทศที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันทางการมาเลเซียได้ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. จะยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศทุกคน ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว รวมถึงผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นระยะเวลา 6-60 วัน ก่อนวันเดินทาง และผู้อายุต่ำกว่า 12 ปี ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางมาถึง กับต้องกักตัว 5 วัน และรัฐบาลได้ยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกอาคาร แต่ยังให้ใส่ในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านและยังต้องใส่ขณะอยู่ในอาคารและระบบขนส่งสาธารณะ ลดเวลาการกักตัวสำหรับผู้มีผลตรวจเป็นบวกเหลือ 5 วัน จากเดิมอย่างน้อย 7 วัน อนุญาตให้สถานบันเทิงยามราตรีเปิดบริการอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ค.