“พล.อ.ประวิตร” ถกคปต.ขับเคลื่อนลดเหตุรุนแรง-เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิต 3 จชต. ย้ำนโยบายนายกฯ เน้นหลักคิดเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา รับฟังปรับให้เป็นไปตามความต้องการ ปชช.ในพื้นที่
วันที่ 29 เม.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2565 เพื่อร่วมกันลดเหตุรุนแรงให้ชัดเจน และเร่งพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยที่ประชุมรับทราบ การดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.การแก้ไขปัญหาของกลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือ คนไร้สัญชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ จำนวน 1,675 คน โดย พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ ศอ.บต. เข้าไปหนุนเสริม การทำงานของ มท.ให้รวดเร็วและรอบคอบขึ้น
2.การขับเคลื่อนงานของคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในด้านต่างๆ ทั้งการรับฟังและเสริมสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติงานและสร้างสภาพแวดล้อมหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข การสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศในการสนับสนุนการแก้ปัญหา การเสริมสร้างและพัฒนาอาชีพ มุ่งเน้นแรงงานในพื้นที่ไปทำงาน ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย พร้อมติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่ ผ่านกลไกสภาสันติสุขตำบล รวมทั้งขับเคลื่อนบูรณาการการศึกษาด้วยสื่อนวัตกรรมและการเรียนการสอนหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น ไม่ให้มีความซ้ำซ้อน มีมาตรฐานและเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่
3.ความคืบหน้าโครงการเช่าระบบป้องกันความปลอดภัยเขตเมือง ด้วยระบบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ 6 อำเภอ โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.บูรณาการระบบกล้องของทุกหน่วยงาน การเชื่อมโยง การปรับจุดติดตั้งให้เหมาะสมและการติดตามการซ่อมบำรุงไม่ให้ชำรุด
ต่อจากนั้น ได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบโครงการสานใจสู่สันติเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และเห็นชอบ โครงการหนุนเสริมภาคประชาสังคมกับการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและสร้างสำนึกการมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเมืองไปด้วยกัน
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ย้ำนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้แยกสถิติการก่อเหตุรุนแรงกับเรื่องส่วนตัว และเน้นหลักคิดเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาในการทำงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกำชับ ให้การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องมีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริงและโครงการต่างๆ ต้องให้มีความเหมาะสมกับบริบทและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ให้พิจารณากฎหมายที่มีอยู่ให้รอบด้าน โดยต้องไม่สร้างเงื่อนไขใหม่อีก