อย่าพลาด! สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนดูฝนดาวตก “อีต้า-อควอริดส์” ด้วยตาเปล่า สูงสุดเฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ชวนดูฝนดาวตก “อีต้า-อควอริดส์” ด้วยตาเปล่า ในเวลาประมาณ 02.15 น. จนถึงรุ่งเช้า สูงสุดเฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง ทางทิศตะวันออก แนะชมในที่มืดสนิท จะเห็นชัดขึ้น

วันที่ 5 พ.ค. 65 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ชวนประชาชน ดู “ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์” ในเวลาประมาณ 02.15 น. จนถึงรุ่งเช้า 

สำหรับ “ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์” เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 19 เมษายน – 28 พฤษภาคมของทุกปี สำหรับปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 15.00 น. คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง ไม่สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่จะสังเกตได้ในคืนวันที่ 5 พฤษภาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 02.15 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก ศูนย์กลางการกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ สามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า

ทั้งนี้ คืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง ผู้สนใจสามารถรอชมความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ได้

โดยสถานที่ชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่มืดไม่มีแสงไฟรบกวนหรือห่างจากเมือง แนะนำให้นอนรอชมและปรับสายตาให้คุ้นเคยกับความมืดโดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที สำหรับการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่สามารถระบุทิศทางได้ ต้องอาศัยการคาดเดาและเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง

“ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์” เกิดจากสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านสายธารดังกล่าว เศษหินและฝุ่นของดาวหางจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball)

แต่หากใครที่พลาดในคืนนี้ ยังสามารถสังเกต “ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์” ได้อีกในคืนวันที่ 6 พฤษภาคม ถึงรุ่งเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 02.15 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ทางทิศตะวันออก.

คลิกชมที่นี่

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ