“จะทำอย่างไรให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัย อาชญากรรม หากสามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง สามารถเดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน”
เป็นนิยามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ให้นโยบายในการ บริหารงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมผลักดัน “SMART SAFETY ZONE 4.0” และนำไปใช้ในพื้นที่นำร่อง 15 สถานีตำรวจทั่วประเทศตั้งแต่กลางปี 2564
เพื่อยกระดับพัฒนารูปแบบวิธีป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก โดยใช้นวัตกรรม และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนำไปสู่แนวคิด “เมืองอัจฉริยะแห่งความปลอดภัย”
สภ.เมืองอุดรธานี เป็นหนึ่งในโรงพักที่ได้ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม มีการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจเฝ้าระวังเหตุอาชญากรรมที่เรียกว่า “อุดรเซฟตี้โซน” จนได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชาว่า ที่นี่คือต้นแบบที่จะนำร่องไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
ด้วยสภาพเมืองและตำแหน่งที่ตั้งของเมืองอุดรธานี ถือว่าเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบนและยังเชื่อมโยงกับนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวได้อย่างชัดเจนและมีนัยสำคัญ เพราะขณะนี้รถไฟความเร็วสูงจากจีนมีปลายทางไปสิ้นสุดอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์แล้ว พร้อมเชื่อมต่อเส้นทางผ่านไปยัง จ.หนองคาย
แต่สิ่งที่หลายภาคส่วนจับตามองและรู้สึกกังวลเป็นอย่างมากก็คือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย
เนื่องจาก จ.อุดรธานี จะเป็นเจ้าภาพจัด “งานพืชสวนโลกในปี 2569” รวมไปถึงงานอีเวนต์ใหญ่มหกรรมการแข่งขันจักรยานระดับโลก “เลอแท็ฟ ทัวร์ เดอฟร้องส์” ที่จะจัดก่อนในปี 2568 โดยจะมีนักปั่นจากทุกมุมโลกมาจำนวนมาก
จุดนี้เองที่ สภ.เมืองอุดรธานี ได้เร่งพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และสร้างความมั่นใจให้กับคนต่างถิ่นตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคต
“อุดรเซฟตี้โซน” เป็นการผนึกกำลังหน่วยงานต่างๆอย่างเข้มข้น โดยมี สภ.เมืองอุดรธานี เป็นศูนย์กลางในการประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่
เริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจังตั้งแต่ยุค พ.ต.อ.อารี สินธุรา เป็นหัวหน้าโรงพักก่อนส่งผ่านมาถึง พ.ต.อ.จามร อันดี ผกก.คนปัจจุบัน โครงการยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยมี พ.ต.ท.พัฒนวงศ์ จันทร์พล รอง ผกก.ป.สภ.เมืองอุดรธานี เป็นผู้รับผิดชอบวางแผนเชื่อมโยง “อุดรเซฟตี้โซน” พื้นที่ 4.3 ตร.กม. เข้ากับศูนย์ปฏิบัติการและควบคุมสั่งการ สภ.เมืองอุดรธานี CCOC (Command And Control Operations Center) เพื่อเฝ้าระวังเหตุตลอด 24 ชม.
มีการเพิ่มจุดขอความช่วยเหลือที่เรียกว่า SOS แจ้งเหตุฉุกเฉินนำร่องก่อน 1 จุด บริเวณ 4 แยกชิบูย่า สถานีรถไฟอุดรธานี ถนนประจักษ์ศิลปาคมตัดกับถนนทองใหญ่ จุดที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่รอบบริเวณ และมีผู้คนทำมาค้าขายออกมาจับจ่ายเป็นจำนวนมาก
พ.ต.ท.พัฒนวงศ์ กล่าวว่า ประชาชนที่เห็นหรือประสบเหตุอาชญากรรม ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ คลั่ง อาละวาดทำร้ายประชาชน หรือวิกลจริต สามารถแจ้งเหตุได้ที่ตู้รับแจ้งเหตุ SOS
เพียงแค่กดปุ่ม 1 ครั้งแล้วรอเจ้าหน้าที่ศูนย์ CCOC พูดตอบรับ ตำรวจจะมองเห็นใบหน้าผู้แจ้งและสามารถประเมินได้ว่าเป็นการแจ้งเหตุจริงหรือเท็จ ส่วนผู้แจ้งจะไม่เห็นหน้าตำรวจ
แผนงานต่อไปจะติดตั้งจุด SOS อีก 20 จุดทั่วเขตเทศบาลนครอุดรธานีกระจายออกไปตามจุดธนาคาร ร้านทอง ตลาดสด หรือพื้นที่คนพลุกพล่าน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
อนาคตจะขยายจุดแจ้งเหตุ SOS ออกไปให้ครอบคลุมในทุกอำเภอ โดยได้รับการสนับสนุนงบฯจากกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ อปท.
เป้าหมายเพื่อทำให้อุดรธานีเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งจังหวัด.