ดร.อนันต์ ให้ความรู้เรื่อง “ฝีดาษลิง” แนะอย่านำไปเทียบกับ HIV เพราะใช้วิธีแพร่ต่างกัน ชี้ ถุงยางอนามัยป้องกัน HIV ได้ แต่ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้
วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า ฝีดาษลิงมาจากไหนเอาจริงๆ ยังไม่มีใครทราบ แต่พบครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 ในลิงที่สถาบันวิจัย Statens Serum Institut ในประเทศเดนมาร์ก ที่ขนลิงผ่านเครื่องบินจำนวน 150 ตัว มาจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาวัคซีนโปลิโอ
โดยหลังจากที่ลิงที่อยู่ที่เดนมาร์กประมาณ 51 วัน เริ่มเห็นกลุ่มคลัสเตอร์แรกมีอาการตุ่มขึ้นที่ผิวหนัง หลังจากนั้น อีก 10 วัน ก็พบลิงอีกคลัสเตอร์นึงมีอาการออกมาคล้ายๆ กัน ซึ่งเชื่อว่าการติดเชื้อไม่ได้เกิดขึ้นจากต้นทาง แต่เป็นการแพร่เชื้อจากสัตว์อื่นที่อยู่ที่สถาบันในเดนมาร์กนั้นเอง แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อมาจากไหนกันแน่
ลิงที่พบว่าติดเชื้อมีเพียง 20-30% เท่านั้นที่ออกอาการ คือ มีอาการตุ่มออกที่ผิวหนัง และ อาการไม่รุนแรง ไม่มีลิงป่วยตาย และ หายจากอาการป่วยภายใน 4 สัปดาห์ ที่น่าสนใจคือ นักวิจัยสมัยนั้นแยกเชื้อไวรัสฝีดาษลิงโดยการฉีดเชื้อจากตุ่มแผลของลิง เข้าไปในไข่ไก่ฟัก และพบว่า ไวรัสสามารถติดเชื้อและเพิ่มปริมาณในไข่ไก่ฟักได้ (จากภาพเป็นเซลล์ของเนื้อเยื่อตัวอ่อนไก่ในไข่ฟัก) และนำไวรัสไปเพิ่มปริมาณต่อในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ รวมถึงเซลล์มนุษย์ด้วย พอได้ไวรัสที่มากเพียงพอก็นำไปเปรียบเทียบกับไวรัสกลุ่ม Vaccinia หรือ ฝีดาษที่เกิดขึ้นในสัตว์อื่นเช่น วัว หรือ ม้า และพบว่าไวรัสดังกล่าว สามารถถูกจับได้ด้วยแอนติบอดีต่อ poxvirus เช่นเดียวกัน ใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะได้ภาพที่ถ่ายเห็นอนุภาคของไวรัสที่ชัดเจน
เมื่อ 64 ปีก่อน เรายังไม่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าอย่าง Whole genome sequencing ที่ถอดรหัสไวรัสได้อย่างรวดเร็วเหมือนวันนี้ แต่เห็นความพยายามในการไขรหัสจากธรรมชาติแล้วรู้สึกว่า เป็นอะไรที่น่าทึ่งครับ จากประวัตินี้เรียกฝีดาษลิง คงต้องใส่ดอกจันว่า ให้เครดิตเพราะลิงเป็นตัวให้เชื้อกับมนุษย์ในการศึกษาวิจัย ไม่ใช่ต้นกำเนิดของไวรัสในธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ไม่แนะนำให้นำ HIV กับ ฝีดาษลิง มาเทียบกัน เพราะการแพร่ใช้วิธีต่างกัน เช่น ถุงยางอนามัยป้องกัน HIV ได้ แต่กันฝีดาษลิงไม่ได้.
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana