ฝนตกหนักน้ำไหลเซาะซากปรักหักพังวัดร้าง กลางหมู่บ้านดอนทะเล เมืองสุพรรณบุรี พบเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณขนาดใหญ่ ชาวบ้านช่วยกันขุดขึ้นมา เจอ 2 เศียร รอกรมศิลป์ตรวจสอบ
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายวรรณนากร แก้วดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านดอนทะเล ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ว่า มีชาวบ้านพบเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณขนาดใหญ่ ภายในวัดร้างกลางหมู่บ้าน จึงร่วมกับ พ.ต.ท.ตะวัน วัฒนรังสรรค์ รอง ผกก.(ป.) สภ.เมืองสุพรรณบุรี เดินทางไปตรวจสอบ พบเศียรพระปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวน 2 เศียร ที่ชาวบ้านขุดพบ นำไปวางไว้บนโต๊ะเพื่อรอเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 2 มาตรวจสอบ และพบซากอิฐโบราณกระจัดกระจายเต็มพื้นที่ รวมถึงโคกเจดีย์ที่พังทลายหมดสิ้นแล้ว เหลือแต่ฐานที่เต็มไปด้วยซากอิฐจมอยู่ในดิน
นายสุริยา เพ็งเจริญ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ 2 ต.พิหารแดง ผู้พบเศียรพระ กล่าวว่า บริเวณที่พบเศียรเป็นเนินมีซากปรักหักพัง ชาวบ้านทราบกันดีว่าเป็นวัดเก่า และเนินดังกล่าวจะมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ วิ่งข้ามทุกวัน รวมทั้งคนเดินเท้า และเมื่อคืนวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำฝนไหลเซาะซากปรักหักพัง ตนสังเกตเห็นมีเศียรพระพุทธรูปอยู่ จึงบอกชาวบ้านช่วยกันขุดขึ้นมา และยังพบว่ายังมีฐานพระพุทธรูปตรงบริเวณที่พบเศียรพระด้วย ซึ่งต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาดำเนินการ
ด้านนายสมหวัง พลายสถิต อายุ 64 ปี ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวว่า ตนเห็นวัดร้างแห่งนี้มาตั้งแต่จำความได้ประมาณ 7 ขวบ ปู่ย่าตายายเคยบอกเป็นวัดเก่า ชื่อวัดดอนทะเล ตอนที่ตนจำความได้เป็นวัดร้างไปแล้ว พบเพียงซากฐานเจดีย์และซากอิฐโบราณที่ยังหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน ด้วยกาลเวลาผ่านมามีบ้านเรือนประชาชนมาปลูก ทำให้รถยนต์ต้องวิ่งผ่านประจำทำให้ฐานทรุด ประกอบกับฝนตก จึงพบเศียรพระพุทธรูปดังกล่าว
นายสมหวัง กล่าวต่อว่า เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา มีคนมาขุดหาของโบราณ 1 ในนั้นมีอาของตนที่ไปขุด ยังได้พระไป 1 ไห หลังจากนั้นก็มีคนมาขุดเรื่อยๆ แต่ไม่พบอะไรอีกเลย แม้แต่ตรงบริเวณที่พบเศียรพระก็เคยมีคนมาขุด แต่ไม่พบเศียรพระ ตนเชื่อว่าเนื่องจากมีรถและคนผ่านทุกวันจึงได้โผล่มาให้เห็นและขุดพบไปเก็บไว้ที่ในที่เหมาะสม
“ตนเชื่อว่าเศียรพระพุทธรูปที่พบ น่าจะมีอายุราว 700 ปี เนื่องจากพระพุทธรูปที่อยู่ในวัดพิหารแดง ที่มีพระประธานองค์ใหญ่ในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อายุ 700 ปี สร้างในสมัยอู่ทองตอนปลาย จึงเชื่อว่าวัดร้างดังกล่าวน่าจะสร้างก่อนวัดพิหารแดงที่มีอายุกว่า 700 ปี” นายสมหวัง กล่าว.