“พรรคก้าวไกล” เล่นบทเฮี้ยบ! ขอตัดงบประมาณ ปี 66 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลง 10% ชี้ รัฐต้องใช้ “คาร์บอนเครดิต” มาสร้างเศรษฐกิจแก่ประเทศ
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 นายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ผู้สงวนความเห็น ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลง 10%
โดยนายนิติพล กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องตัดงบประมาณเพราะในเอกสารมีคำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเต็มไปหมด ตนจึงเสนอให้ปรับลดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลง โดยเหตุผลในการปรับลดงบประมาณได้อธิบายผ่านเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” ที่เอามาแอบอยู่ภายใต้คำว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ซ้อนความเสียหายกับพี่น้องประชาชนและทำให้เสียโอกาส ทั้งที่หากกระทรวงทรัพย์ฯ ทำเรื่องคาร์บอนเครดิตให้ดี เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำโลกด้านสิ่งแวดล้อมได้เลย โดยยก 3 ข้อที่เกี่ยวข้องคือ
1. มาตรฐาน ทุกวันนี้โลกร้อนขึ้น ทำให้ภัยธรรมชาติเกิดมากขึ้นตามไปด้วย แต่หากบอกให้ทุกคนในโลกหยุดทุกอย่าง หยุดการผลิต ไม่ต้องกิน ไม่ต้องใช้ ไม่ต้องเดินทางกันแล้ว มันก็จะพังทั้งโลก ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องเปลี่ยนวิฤติเป็นโอกาส ไม่ใช่เปลี่ยนวิฤติเป็นหายนะ การผลิตเท่ากับการปล่อยก๊าซพิษสู่อากาศ เพื่อให้สมดุลเลยต้องเพิ่มการดูดซับ ตรงนี้ คือโอกาสของคนไทยทุกคน คือโอกาสของประเทศไทย ที่จะยืนแถวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โรงงานผลิตสินค้าขายได้กำไร 1,000 ล้านบาท ถ้ายังอยากให้ธุรกิจเดินหน้าได้ต่อ เขามี 2 ทางเลือก คือ 1. เปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตใหม่หมดทันที เพื่อไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม แบบนี้ไม่มีใครทำแน่นอน
เขาจะเลือกทางที่ 2. คือไปซื้อคาร์บอนเครดิต จากประเทศที่มีกิจกรรมที่เพิ่มการดูดซับได้ ตัวอย่างที่คุ้นหูมากที่สุด คือ การปลูกต้นไม้ เป็นกิจกรรมที่เพิ่มการดูดซับได้ กระทรวงทรัพยากรฯ ทำงบปลูกป่า เพาะกล้าไม้แจก เพิ่มพื้นที่สีเขียวมาทุกปีงบประมาณ ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกก็มาซื้อคาร์บอนเครดิต ที่ไทยได้เลย นี่คือแหล่งรายได้ที่ประเทศสามารถทำได้ แต่โครงการที่ทำมาในงบประมาณนี้ไม่ส่งเสริมประเทศไทยเลย และเลวร้ายไปกว่านั้น คือ ไม่บอกประชาชนว่า คนไทยทุกคนสามารถขายคาร์บอนเครดิตเองได้ด้วย
“กระทรวงทรัพยากรฯ งอกแขนขวาออกมา คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ปีนี้รับงบประมาณไปเกือบ 63 ล้านบาท (62,907,100 ล้านบาท) และงอกแขนซ้ายออกมา คือ T-VER วันนี้สิ่งที่ตนอยากสื่อสารกับพี่น้องประชาชนคือมาตรฐานในการเข้าไปซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไม่เข้ากับตลาดโลก งบประมาณของกระทรวงทรัพยากรฯ ทำมาเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้กับใครก็ไม่รู้ ที่รู้ไม่ใช่ประชาชนแน่นอน”
นายนิติพล กล่าวต่อว่า ข้อที่ 2 ก็คือราคาซื้อขาย การประเมินราคาคาร์บอนเครดิตมีหน่วยเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น “ตัน” รัฐมนตรีบอกอย่างภาคภูมิใจว่า ราคาพุ่งสูงถึงตันละ 120 บาท แต่ตลาดโลกซื้อขายกันตันละ 2,000 บาท ราคามีขึ้นๆ ลงๆ บ้าง ตามราคาตลาดแต่ที่แน่ๆ สูงกว่าราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดไทยแน่นอน มองในแง่ดีหากทำราคาที่ตันละ 120 บาท เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศเดินหน้าไปได้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ต้นทุนการผลิตในประเทศจะได้ไม่สูงเกินไป ประชาชนจะได้ไม่ต้องซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแพงกว่าซองละ 8 บาท ดังนั้นงบประมาณที่เสนอมา ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสสำหรับคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่บนดอยไปจนถึงพี่น้องประชาชนที่อยู่ที่อยู่ริมทะเล เสียโอกาสที่จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตในราคาตลาดโลกได้ แบบนี้ใครรับผิดชอบ
นายนิติพล ยังกล่าวต่อว่า เรื่องที่ 3 เรื่องสุดท้ายแล้ว นั้นคือความไม่รู้ ความไม่รู้เรื่องแรก สำคัญมากในเอกสารงบประมาณก็ไม่ได้ระบุไว้นั่นคือ เงินที่กระทรวงทรัพยากรฯ เอาไปซื้อคาร์บอนเครดิต เอามาจากไหน ขายแล้วเอาเงินไปไหน ส่งกลับเข้าคลังเป็นเงินของแผ่นดิน หรือเป็นเงินนอกงบประมาณ ความไม่รู้ถัดไปคือ การทำงบประมาณมาแบบไม่หวังผลความสำเร็จ และตัวเองไม่รู้ว่าปัญหานี้มีทางออกด้านเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ นั้นคือ การจัดการปัญหาช้างป่า ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องนี้ท่านจะบอกว่าไม่รู้ ไม่น่าจะได้ เพราะตนเคยอภิปรายในสภาและในกรรมาธิการวิสามัญช้างป่ามาเป็นปีๆ แล้ว
“ประเทศไทยมีช้างบ้านและช้างป่ารวมกัน 7,500 ตัว ช้างคือสัตว์ใหญ่ที่แหวกทางในธรรมชาติ ทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เพิ่มการดูดซับก๊าซพิษที่ทำให้โลกร้อน ผมเจรจากับต่างประเทศทั้ง IMF ทั้ง World Bank รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้หลายท่านทราบดีว่า ผมคุยกับใครมาบ้าง ผมเดินหน้าเต็มที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รอวันที่ก้าวไกลเป็นรัฐบาล เรื่องนี้ทำได้ทันที องค์กรที่พูดมาตีมูลค่าช้างที่ช่วยทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นแบบนี้อยู่ที่ตัวละเกือบ 2 ล้าน US Dollar คิดตัวเลขกลมๆ นะครับ ลองเอา 2 ล้าน US Dollar คูณกับช้างไทย 7,500 ตัว เราจะมีเงินคาร์บอนเครดิตเข้ามาช่วยเรื่องจัดการปัญหาช้างป่าได้มากขนาดไหน ปัญหานี้มีทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ภาคตะวันออกเงินจะกระจายไปทั้งประเทศ”
นายนิติพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ความไม่รู้สุดท้าย อันนี้โยงไปถึงหลายกระทรวง คือ การทุ่มเทสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ประเทศได้แค่เศษเงินกำไรจากธุรกิจ เราต้องเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และรักษาสุขภาพของคนไทย ถ้าเปลี่ยนเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็น “เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษ” ให้พี่น้องชาติพันธุ์อยู่ร่วมดูแลป่า ให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแลเรื่อง Soft Power ให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการค้า ให้กระทรวงการท่องเที่ยวดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ท่านลองคิดดูครับว่า เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษ จะสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยมากขนาดไหน ที่กล่าวมาทั้งหมดคือเหตุผลที่ขอตัดงบประมาณกระทรวงทรัพยากรฯ ลง 10% เพื่อชะลอการถดถอยของประเทศนี้.