ทำเอาตื่นตกใจไปตามๆ กันเมื่อ AP รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นเตือนให้พลเมืองของตนอยู่ห่างจากสถานที่ทางศาสนาและฝูงชนใน 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเตือนถึงการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้
กระทรวงกล่าวว่าได้รับข้อมูลว่า “มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ระเบิดฆ่าตัวตาย”
คำเตือนนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่ไหน แต่เตือนแบบหว่านแหกับพลเมืองญี่ปุ่นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และเมียนมา
เมื่อเตือนแบบหว่านแหแบบนี้จึงเล่นเอาบางประเทศงงเป็นไก่ตาแตกและทำอะไรไม่ถูก ยิ่งประชาชนในประเทศนั้นตื่นตูมอยู่แล้วยิ่งลงไปกับรัฐบาลตัวเองว่าปิดบังอำพรางอะไรไว้หรือเปล่า
อย่างในไทยตอบรับฉับไวเพราะตกเป็นประเทศต้องสงสัย นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ญี่ปุ่นไม่ได้เปิดเผยที่มาของคำเตือน และสถานทูตญี่ปุ่นไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมและ “ไม่เฉพาะเจาะจงกับประเทศไทย” ฝ่ายความมั่นคงของไทยก็บอกในทำนองเดียวกันว่าไม่มีข้อมูลเรื่องภัยคุกคาม
ตกลงมันเป็น False alarm หรือสัญญารเตือนหลอกให้ตื่นตกใจหรือไม่?
ถ้าคิดดูดีๆ อาจไม่น่าจะใช่ หากลองดูทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง
ชัยชนะของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 15 ส.ค. อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลุกขึ้นมาลงมือก่อเหตุในบ้านเกิดอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานที่มั่นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ หลังจากบางกลุ่มอ่อนแอลงเพราะถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก
ผู้เชี่ยวชาญพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอาบูไซยาฟ (Abu Sayyaf) ในฟิลิปปินส์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการลักพาตัวนักท่องเที่ยว และกลุ่มญะมาอะห์อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah: JI) ในอินโดนีเซียที่อยู่เบื้องหลังระเบิดบาหลีเมื่อปี 2002 ว่าจะรู้สึกฮึกเหิมขึ้นจนลุกขึ้นมาก่อเหตุโจมตีในบ้านเกิด อาทิ การวางระเบิด
ไม่นานหลังจากกลุ่มตอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้เบ็ดเสร็จ กลุ่มญะมาอะห์ อันชารูซี ชารีอะห์ (Jamaah Ansharusy Syariah: JAS) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่แยกมาจากกลุ่ม JI ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับกลุ่มตอลิบาน โดยแถลงการณ์กลุ่มนี้ลงนามโดย อับดุล ร็อคฮิม บาชีร์ ลูกชายของอาบู บัคการ์ บาชีร์ อดีตผู้นำทางจิตวัญญาณของกลุ่ม JI ที่ออกคำสั่งให้ระเบิดบาหลี
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงกังวลว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะตกอยู่ในอันตรายจากการก่อการร้ายอีกครั้ง
เค ชานมูกัม รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายและมหาดไทยของสิงคโปร์เตือนว่า การกลับขึ้นมาครองอำนาจอีกครั้งของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานอาจนำมาสู่การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในอดีตสมัยที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตอลิบาน อัฟกานิสถานเคยเป็นสวรรค์สำหรับกลุ่มไอเอส (ISIS) อัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และช่องทางสวรรค์ที่อาจเป็นนรกของใครอีกหลายคนกำลังเกิดเปิดขึ้นอีกครั้งสำหรับกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน เอ็นริโก เคา ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Taiwan Strategy Research Association เผยว่า แม้ว่ากลุ่มตอลิบานจะไม่มีอิทธิพลโดยตรงกับกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอิทธิพลทางอ้อม ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกลุ่มอัลกออิดะห์หรือกลุ่มอาบูไซยาฟอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้
ส่วน แซคารี อาบูซา ศาสตราจารย์จาก National War College ในวอชิงตันเผยว่า กลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เคยเห็นกลุ่มตอลิบานถูกสหรัฐไล่บี้จนต้องถอยร่นไปตั้งหลักในปากีสถาน และเห็นตอลิบานกลับมาผงาดอีกครั้ง ดังนั้นชัยชนะของตอลิบานอาจเป็นแรงกระตุ้นและขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่น่ากังวลกว่าไม่แพ้กันคือ รัฐมนตรีในรัฐบาลชั่วคราวของอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตอลิบานครั้งนี้ประกอบด้วยสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มกบฏ โดยมีอย่างน้อย 14 คนอยู่ในบัญชีดำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้ง มุลเลาะห์ ฮาซาน รักษาการนายกรัฐมนตรี และซิรายุดดิน ฮัคคานี รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยซึ่งถูกสหรัฐตั้งค่าหัวไว้ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีรักษาการ 33 คนยังรวมถึงผู้นำ 4-5 คนที่รู้จักกันในนาม 5 ตอลิบาน (Taliban Five) อดีตนักโทษเรือนจำกวนตานาโมที่สหรัฐยอมปล่อยตัวแลกกับตัวประกันทหารอเมริกัน
ขณะที่กลุ่ม JI มีความสัมพันธ์กับทั้งอัฟกานิสถานและกลุ่มอัลกออิดะห์ ระหว่างสงครามโซเวียต-อัฟกันช่วงทศวรรษ 1970-1980 กลุ่ม JI รับสมัครและส่งนักรบไปฝึกที่อัฟกานิสถานหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือ ริดวน อิซามุดดิน หรือ ฮัมบาลี ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดและการโจมตีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายครั้งและคนชี้เป้าให้กลุ่มอัลกออิดะห์ที่อำนวยความสะดวกในการฝึกในอัฟกานิสถานก่อนจะถูกซีไอเอจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การตั้งข้อหาของคณะกรรมการกองทัพสหรัฐในกวนตานาโมเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมาอาจนำมาสู่การล้างแค้นของกลุ่มหัวรุนแรงใหม่ๆ ในอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ อับดุลราจัค จานจาลานี ผู้ก่อตั้งกลุ่มอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ก็เคยเข้าร่วมรบในสงครามโซเวียต-อัฟกันในช่วงที่โอซามะ บิน ลาเดนเป็นผู้นำ
ประสบการณ์การร่วมรบในอัฟกานิสถานเหล่านี้ได้สร้างสายสัมพันธ์ในฐานะเครือข่ายศิษย์เก่าให้กับนักรบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มก่อการร้ายอย่างอาบูไซยาฟและ JI ยังได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ (Al-Qaeda) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้อัฟกานิสถานเป็นที่มั่นภายใต้อำนาจของตอลิบาน เรียกว่าแต่ละกลุ่มล้วนมีสายสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันไปมา
ประจวบเหมาะกับการกลับมาปรากฏตัวของผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ใครๆ ต่างก็เข้าใจว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อวันเสาร์ (11 ก.ย.) ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปีเหตุวินาศกรรมโจมตีตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐ กลุ่มตอลิบานเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 61 นาทีของ อัยมาน อัล ซาวาฮิรี ผู้นำกลุ่ม
อัล ซาวาฮิรี พูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังเดือน ธ.ค.ที่มีข่าวลือออกมาว่าเข้าเสียชีวิตจากอาการป่วยเรื้อรัง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าเขายังไม่เสียชีวิต
การปรากฏตัวของผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์สอดคล้องกับรายงานของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2019 ที่เตือนว่า กลุ่มอัลกออิดะห์อาจกลับมาอีกครั้งหากอัฟกานิสถานตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตอลิบาน เนื่องจากสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์เคยทำหน้าที่เป็นนักรบและผู้สอนศาสนาให้กลุ่มตอลิบาน ในระหว่างนี้จึงเกิดสายสัมพันธ์เหนียวแน่นผ่านการแต่งงานและเป้าหมายร่วมกันในกลุ่มนักรบรุ่นที่ 2
นี่เป็นฉากหลังที่น่ากังวลสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงในภูมิภาคกับกลุ่มอัลกออิดะห์กำลังสร้างความหวั่นเกรงว่ากลุ่มเหล่านี้จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังได้รับการสนับสนุนระลอกใหม่
ในกลุ่มนักโทษราว 5,000 คนที่กลุ่มตอลิบานปล่อยตัวหลังเข้ายึดฐานทัพสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้ มีชาวอินโดนีเซียที่เข้าร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในอัฟกานิสถานอยู่ 7 คน และตอนนี้ 7 คนนี้อาจกำลังเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้ายในบ้านเกิดและอาจกำลังชักชวนกลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซียเข้าร่วมผ่านโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความเข้ารหัส
นักรบในกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งกลุ่ม JI แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร และอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ และกลุ่มกัมปูลันมูจาฮิดินมาเลเซียล้วนเคยไปฝึกรบที่อัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ทั้งการฝึกรบแบบกองโจรที่เรียกว่ามูจาฮิดีน การทำระเบิด กลยุทธ์ทหารราบ ซึ่งสร้างคอนเนคชันไว้ไม่มากก็น้อย โดยบางคนกลับมาลงมือก่อเหตุในบ้านเกิดและกลายเป็นภัยความมั่นคงของชาติ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าที่ผ่านมาอินโดนีเซียจะปราบปรามกลุ่ม JI อย่างหนักจนอ่อนแอลง แต่กลุ่ม JI ยังคงอยู่ เดือนที่แล้วตำรวจอินโดนีเซียจับกุมผู้ก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าวางแผนก่อเหตุในวันชาติซึ่งตรงกับวันที่ 17 ส.ค. 53 คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม JI โดยยึดได้ทั้งอาวุธและกล่องรับบริจาคระดมทุน
และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ย.หน่วยปราบปรามการก่อการร้ายอินโดนีเซียยังรวบตัว อาบู รุสดาน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นหัวหน้ากลุ่ม JI พร้อมกับสมาชิกกลุ่มอีก 3 คน
สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ สายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม JI อาบูไซยาฟ อัลกออิดะห์ และตอลิบานจะรอดพ้นการสกัดกั้นของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากน้อยเเค่ไหน เนื่องจากฝ่ายรัฐได้เตรียมตัวดีกว่าในอดีต
และขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวนับจากนี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ครั้งหนึ่งอาเซียนเคยต้องอยู่หวาดระแวงแบบนี้มาแล้ว ช่วงแรกๆ ของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย วันนี้ฝันร้ายนี้กลับมาซ้ำรอยอีกครั้งแบบ “เดจาวู” อย่างไม่น่าเชื่อ