ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 ให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอได้ แต่ต้องผ่าน ครม.ก่อน

ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 ให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อเสนอได้ แต่ต้องผ่าน ครม.ก่อน พร้อมทั้งห้ามภิกษุ สามเณร ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิออกเสียง

เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 85 มาตรา โดยในมาตรา 2 บัญญัติว่า พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป จึงเท่ากับว่าวันนี้ (15 ก.ย.64) พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว

ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 34 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

โดยมีสาระสำคัญ อาทิ มาตรา 9 กำหนดให้มีการออกเสียงตามประชามติ ใน 5 กรณี มีดังต่อไปนี้

1) การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2) การออกเสียงกรณีเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร

3) การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4) การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มี

5) การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ทั้งนี้ การออกเสียงในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ จะกระทำมิได้

สำหรับผลการออกเสียง มาตรา 13 บัญญัติว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ขณะที่ มาตรา 17 บัญญัติว่า ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคม ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการออกเสียงได้โดยเสรี เสมอภาค และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนในกรณีเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้ข้อมูลในการออกเสียงที่กระทำโดยหน่วยงานของรัฐ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง องค์กรเอกชน และกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้เข้าร่วมอย่างเสรี และเท่าเทียม

มาตรา 18 บัญญัติไว้ว่า การออกเสียงให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง

ขณะที่ มาตรา 21 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันออกเสียง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง

1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ส่วนหมวดว่าด้วยความผิดและบทกำหนดโทษ

มาตรา 71 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัตินี้ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

มาตรา 72 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการออกเสียงประจำเขตออกเสียง คณะกรรมการประจำเขต กรรมการประจำเขต คณะกรรมการประจำหน่วย กรรมการประจำ หน่วย คณะอนุกรรมการ อนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงาน ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า จะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 73 ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวผู้ใต้บังคับบัญชาหรือ ลูกจ้างในการไปใช้สิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 74 ผู้ใดทำลายบัตรออกเสียงโดยหรือจงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรออกเสียงชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดแก่บัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 75 ผู้ใดทำลายเครื่องลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกเสียง อิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลการลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงคะแนนออกเสียงอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผิดไปจากความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ