องค์การสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) ตัดสินใจป้อนคำสั่งให้จรวดเอปซิลอนระเบิดทำลายตัวเอง หลังการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศเมื่อช่วงเช้าวานนี้ประสบความล้มเหลว เนื่องจากเกิดปัญหาขัดข้องที่ทำให้จรวดไม่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย
จรวดเอปซิลอนซึ่งไม่มีนักบินอวกาศประจำการ ได้ปฏิบัติภารกิจครั้งที่ 6 ในการนำดาวเทียม 8 ดวงที่พัฒนาโดยองค์กรเอกชน หน่วยงานของรัฐ ที่รวมถึงมหาวิทยาลัย ขึ้นสู่อวกาศ โดยสถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า จรวดเอปซิลอนได้รับคำสั่งให้ระเบิดทำลายตัวเอง เมื่อเวลา 09.57 น. หลังจากขึ้นจากฐานยิงที่ศูนย์อวกาศ อูชิโนอูระ ในจังหวัดคาโงชิมะ ไปได้ราว 10 นาที
เจ้าหน้าที่ JAXA แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์ว่า “จรวดไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อความเสียหายหากมันตกลงสู่พื้นดิน ดังนั้น เราจึงต้องมีมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว โดยป้อนคำสั่งทำลายตัวเอง”
ในการแถลงข่าวหลังการยิงล้มเหลว JAXA กล่าวว่า การตัดสินใจส่งคำสั่งทำลายตัวเองเกิดขึ้นหลังจากที่จรวดเบี่ยงเบนไปจากตำแหน่งที่กำหนดไว้และไม่สามารถส่งดาวเทียมในวงโคจรได้ ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์กล่าวกับที่ประชุมกองกำลังเฉพาะกิจว่า ไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการทำลายตนเอง
JAXA ระบุว่า จรวดตกลงไปในทะเลหลังจากคำสั่งทำลายตัวเอง และกล่าวว่าจะดำเนินการสืบสวนสาเหตุของความผิดปกติที่นำไปสู่การยกเลิกภารกิจ และจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยในการตรวจสอบ
ฮิโรชิ ยามาคาวะ ประธาน JAXA กล่าวว่า ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อแผนต่างๆ แต่เน้นว่าหน่วยงานจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น
JAXA ยังไม่ออกมาชี้แจงสาเหตุของความผิดพลาดครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความล้มเหลวในการยิงจรวดครั้งแรกของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา
ญี่ปุ่นเริ่มนำเอปซิลอนซึ่งเป็นจรวดเชื้อเพลิงแข็ง มาใช้งานตั้งแต่ปี 2013 โดยมีขนาดเล็กกว่าจรวดรุ่นก่อนหน้าที่ใช้เชื้อเพลิงเหลว และได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากจรวด M-5 ซึ่งถูกปลดระวางไปเมื่อปี 2006 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
สำหรับดาวเทียม RAISE-3 ซึ่งถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับจรวดเอปซิลอน เดิมทีมีกำหนดจะโคจรรอบโลกเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และนอกจาก RAISE-3 แล้ว ยังมีดาวเทียมขนาดเล็กอีก 8 ดวงที่ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกันด้วย
ญี่ปุ่นประสบความล้มเหลวในการยิงจรวดล้มเหลวครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003 โดยเป็นการส่งดาวเทียมสอดแนม H2A ขึ้นไปเพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ.
ที่มา KYODO NEWS