“…ดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้ดั่งจักแตก…” ข้อความในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 2 ที่กล่าวถึงความยึดมั่นในพุทธศาสนาของชาวสุโขทัยทุกหมู่เหล่า
ในช่วงทำบุญกฐินชาวสุโขทัยจะพากันจัดแต่งบริวารกฐินแห่แหนจากอรัญญิกเข้ามาในเมือง มีผู้คนจำนวนมากเบียดเสียดเข้ามาทางประตูเมืองทั้งสี่ด้านเข้าสู่ภายในกำแพงเมืองเพื่อดูการเผาเทียนเล่นไฟ ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะหมายถึงการฉลองด้วยดอกไม้ไฟหลังเทศกาลกฐิน หรืออาจหมายถึงการเล่นดอกไม้ไฟในเทศกาลลอยโคม ลอยประทีป หรือลอยกระทง
แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ตอนไหน อย่างไร และไม่ว่าเผาเทียนเล่นไฟในหลักศิลาจารึกจะหมายถึงเทศกาลไหน แต่ที่แน่ ๆ วันนี้ประตูเมืองเก่าที่จะเข้าไปสู่พื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยังคงคลาคลํ่าไปด้วยผู้คนที่ตั้งใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่จะเวียนมาเพียงช่วงเวลาเดียวในหนึ่งปีให้ได้สักครั้ง
จังหวัดสุโขทัยชวนนักท่องเที่ยวร่วมสืบสานงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2565 โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29 ต.ค.-8 พ.ย. 2565 ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยพิธีเปิดจะมีขึ้นในวันที่ 29 ต.ค. 2565 ณ วัดชนะสงคราม ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประกอบด้วยขบวนแห่ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดกระทงเล็ก กระทงใหญ่ พนมหมาก พนมดอกไม้ และโคมชัก โคมแขวน ขบวนแห่กระทงใหญ่ กระทงเล็ก โคมชัก โคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ และขบวนแห่วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวท้องถิ่นและวันเพ็ญเดือน 12 ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
การประดับตกแต่งพื้นที่ภายในงานจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “สุโขทัย ไท้ย ไทย” เริ่มด้วยจุดถ่ายภาพ Landmark ลายสือไทย คำว่า “สุโขทัย” เปิดประสบการณ์กับอาหารถิ่นบ้านบ้าน กิจกรรม DIY สินค้าของที่ระลึก การแสดงนาฏศิลป์ไทย พร้อมชวนนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรม “แต่งไทยไปลอยกระทง” ถ่ายรูปแล้วโพสต์ผ่าน Social ติด #ลอยกระทงสุโขทัย #สุโขทัยไท้ยไทย รับของที่ระลึกจาก ททท. ภายในงานทันที พิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวที่พักค้างเพียงนำหลักฐานการเข้าพักมาแสดง ณ บูธ ททท. รับคูปองส่วนลดค่าอาหารและค่ากิจกรรม DIY หรือ Shopping ภายในโซน ททท.ฟรีทันที
สำหรับการแสดง แสง เสียง (Light and Sound) จะเริ่มเวลา 19.30 น. ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมข้าวขวัญวันเล่นไฟ ณ บริเวณด้านหน้าวัดมหาธาตุ การจัดแสดงกระทงใหญ่จาก9 อำเภอในจังหวัดสุโขทัย ณ ท่านํ้าบริเวณตระพังตระกวนและตระพังตาล โดยจะมีจุดจำหน่ายกระทงจากฝีมือชาวบ้านซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนเมืองเก่าของสุโขทัยด้วยการแสดงพลุตะไลไฟพะเนียงภายในงานทุกวัน เวลาประมาณ 22.00 น. และ 23.00 น. การจัดแสดงและสาธิตกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) การแสดงโขน ละครหุ่น ณ เวทีบริเวณด้านข้างวัดชนะสงคราม ตลาดโบราณ “รอบรั้วเมืองพระร่วง” ณ บริเวณด้านหน้าตระพังตาล และตลาดถุงเงิน ณ วัดตระพังเงิน
ขึ้นไปที่ลำปาง ความรุ่งเรืองในอดีตที่เคยเป็นศูนย์กลางของการค้าขายและสัมปทานป่าไม้โดยมีแม่นํ้าวังเป็นจุดขึ้นลง เป็นที่มาของการจัดงานประเพณีล่องสะเปา ดังปรากฏหลักฐานในสมัย เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (พ.ศ. 2440-2465) ได้แต่งสะเปาหลวง รูปเรือสำเภา มีเสากระโดง มีโคมร้อย เป็นโคมราวเล็ก ๆ ในเรือมีข้าวปลาอาหาร รูปปั้นทาสีทาสา ช้าง ม้า วัว ควาย และทำพิธีสระเกล้า
ดำหัวลงในสะเปาก่อน จากคำบอกเล่าของเจ้าหญิงบุษบง ราชธิดาองค์สุดท้ายในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต หลังจากนั้นข้าราชบริพารและชาวเมืองจะนำสะเปาน้อย ตามแห่เป็นขบวนจากคุ้มหลวงลงที่ท่านํ้าช้างเผือก หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางปัจจุบัน ต่างก็ถือสะเปาน้อยร่วมลอยพร้อมกันสองฝั่งแม่นํ้าวัง
“สะเปา” ก็คือ “สำเภา” เรือเดินทะเลที่ใช้แล่นด้วยใบ แต่สำหรับล้านนาจะหมายถึงเรือบรรทุก ในด้านคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา การล่องสะเปา คือการทำทานให้แก่ผู้ล่วงลับ ในอดีตจะใช้กาบกล้วย มะละกอ ไม้ไผ่ หรือกระดาษแก้ว ตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ หรือใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายต่าง ๆ ติดด้านข้างลำสะเปา นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่น ๆ ที่มักใส่ลงไปในสะเปาด้วย เช่น ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น ข้าวต้มจิ้ม นํ้าตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน และรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น เพราะเชื่อกันว่า ผู้ล่วงลับที่ได้อุทิศส่วนกุศลหรือบุญฝากเป็นสิริมงคลของตนเองในภพหน้า
งานประเพณี “ล่องสะเปาจาวละกอน” คล้ายกับประเพณีลอยกระทงของจังหวัดอื่น ๆ นอกจากจะทำสะเปามาลอยนํ้าในคํ่าคืนของวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 12 ของทุกปีแล้ว แต่ละชุมชนแต่ละบ้านจะตกแต่งซุ้มประตูป่า ตุง ผางประทีป และโคมไฟล้านนา พร้อมทั้งแต่งกายชุดพื้นเมือง อู้กำเมือง ช่วยเพิ่มสีสัน
กิจกรรมสำคัญของงานในปีนี้ประกอบด้วย การตกแต่งและประกวดซุ้มประตูป่าในวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 12 พร้อมบรรเลงดนตรี สะล้อ ซอ ซึง วันขึ้น 15 คํ่า เดือน 12 (คืนเป็ง) ช่วงเช้าจะมีงานกาดมั่วคัวงายบนถนนวังเหนือ ถนนสายวัฒนธรรมของชาวลำปาง มีการประกวดประดิษฐ์สะเปาฝีมือ โคมศรีล้านนา และสะเปาลอยนํ้า ภาคคํ่าในสายแม่นํ้าวัง ตั้งแต่ท่านํ้าบ้านเชียงรายไปยังสะพานแขวนเขื่อนยาง กว่า 30 ลำ สุดท้ายวันแรม 1 คํ่า เดือน 12 ภาคคํ่าตั้งแต่กาดเก๊าจาว ถึงข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา ตื่นตาตื่นใจกับสะเปารถใหญ่ ที่ประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม พร้อมการฟ้อนรำตามแบบชาวเหนือโดยเทศบาลนครลำปาง กำหนดจัดงานประเพณี “ล่องสะเปาจาวละกอน” ระหว่าง 7-9 พ.ย. 2565 ณ บริเวณท่านํ้าสิงห์ชัย
ลงมาที่จังหวัดตากกับงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ประจำปี 2565 อีกประเพณีที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกสืบทอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในคืนวันแรกของการจัดงานจะมีการอัญเชิญกระทงพระราชทานลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ พร้อมด้วยขบวนแห่กระทงของชาวบ้านซึ่งแต่งกายอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ประกอบด้วยกระทงขนาดใหญ่ เรียกว่า กระทงนำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ประดิษฐ์ด้วยความประณีตจากใบตองสด พร้อมด้วยกระทงกะลาที่ตกแต่งลวดลายต่าง ๆ และปิดท้ายด้วยกระทงตามเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร เริ่มจากบริเวณหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงบริเวณริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ถัดมาคือ พิธีขอขมาพระแม่คงคา พร้อมชมการลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จากชุมชนต่าง ๆ และกิจกรรมลานครัวกระทงสาย กาดกระทงสาย ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติฯ
งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ประจำปี 2565 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 พ.ย. 2565 ณ ริมสายธารลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีอำเภอเมือง จังหวัดตาก.
อธิชา ชื่นใจ