องค์การอาหารและยาแห่งอินโดนีเซีย (บีพีโอเอ็ม) กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ทางหน่วยงานได้เพิกถอนใบอนุญาตการผลิตยาประเภทน้ำเชื่อมของบริษัท 2 แห่งในประเทศ เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบการผลิต หลังการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเด็กมากกว่า 150 ราย ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะไตวายเฉียบพลัน
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่อินโดนีเซียสั่งห้ามการจำหน่ายยาประเภทน้ำเชื่อมบางชนิดเป็นการชั่วคราว พร้อมกับระบุว่า ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีส่วนผสมของเอทิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล คือปัจจัยที่เป็นไปได้ต่อการเสียชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
นางเพนนี เค ลูคิโต หัวหน้าของบีพีโอเอ็ม บอกกับผู้สื่อข่าวว่า บีพีโอเอ็มเพิกถอนใบอนุยาตการผลิต “ยาน้ำเชื่อม” ของบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทพีที ยารินโด ฟาร์มาตามา และบริษัทพีที ยูนิเวอร์ซัล ฟาร์มาซูติคอล อินดัสทรีย์ส และกำลังดำเนินคดีอาญากับพวกเขา เนื่องจากทั้งสองบริษัทผลิตยาด้วยวัตถุดิบที่ไม่ได้มาตรฐาน, ไม่มีการรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงในส่วนผสม และใช้วัตถุดิบบางอย่างเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม บริษัท 2 แห่งข้างต้น ยังไม่แสดงความเห็นตอบกลับแต่อย่างใด โดยอ้างถึงการสอบสวนที่กำลังดำเนินอยู่
อนึ่ง อินโดนีเซียพบการเสียชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลันในเด็กเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ กล่าวว่า น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในวัตถุดิบที่ใช้ทำเป็นยาน้ำเชื่อมแก้ไอ และยาน้ำเชื่อมแก้ไข้ ซึ่งอินโดนีเซียนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตยาส่วนใหญ่มาจากจีนและอินเดีย ขณะที่ทางการระบุว่า ตัวทำละลายที่ใช้ในยาน้ำเชื่อมของทั้งสองบริษัทมีสิ่งเจือปน
นอกจากนี้ บีพีโอเอ็ม กล่าวเพิ่มเติมว่า โพรพิลีนไกลคอล ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวทำละลายเหล่านี้ ถูกผลิตโดยบริษัทดาว เคมิคอล ไทยแลนด์ อีกทั้งทางหน่วยงานจะสอบสวนผู้จัดจำหน่ายของบริษัทผลิตยาทั้ง 2 แห่ง เพื่อตรวจสอบว่า ทางบริษัทมีการจัดส่งวัตถุดิบผลิตยาไปยังบริษัทยาแห่งอื่นหรือไม่.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES