องค์การอนามัยโลก WHO ประกาศเตือน! “ยาแก้ไอน้ำเชื่อม” ผลิตในอินเดียมีสารปนเปื้อนอันตรายทำให้เด็กไตวายเฉียบพลันตาย ขณะที่ อย.ไทย ยืนยันสั่งถอดผลิตภัณฑ์ 4 ตัวแล้ว
จากกรณีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีเด็กเสียชีวิต 66 ราย ในแกมเบีย เกิดจากภาวะไตวายเฉียบพลัน โดยจากการตรวจสอบพบว่า เกี่ยวข้องกับการรับประทานยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งผลิตและส่งออกมาจากบริษัท ไมเดน ฟาร์มาซูติคอล ของอินเดีย ภายหลังต่อมา ขณะที่แหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย กล่าวเพียงว่า “รัฐบาลขอรอ ผลการยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง” รวมทั้งล่าสุด องค์การอาหารและยาแห่งอินโดนีเซีย (บีพีโอเอ็ม) ได้เพิกถอนใบอนุญาตการผลิตยาประเภทน้ำเชื่อมของบริษัท 2 แห่งในประเทศ เนื่องจากละเมิดกฎระเบียบการผลิต หลังการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเด็กมากกว่า 150 ราย ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะไตวายเฉียบพลัน
ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกประกาศเตือน พบยาน้ำไซรัปสำหรับเด็ก 4 ยี่ห้อ มีการปนเปื้อนสารอันตราย ทั้งหมดผลิตในอินเดีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กในอินโดฯ และแกมเบีย เสียชีวิตจากไตวายเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันนั้น ทางด้านเว็บไซต์ อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลถึงยาดังกล่าวว่า “อย.ตรวจสอบแล้ว ยาแก้หวัดอินเดียที่ตรวจพบสารปนเปื้อนวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวในประเทศไทย และไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ต
ขณะที่ นพ.สรุโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวเด็กในอินโดนีเซียเกิดไตวายเฉียบพลันหลังรับประทานยาน้ำเชื่อมพาราเซตามอลที่ผลิตในอินเดีย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเตือนให้ถอดผลิตภัณฑ์ยาแก้หวัด 4 ตัวของบริษัท เมเดน ฟาร์มาซูติคอลส์ ที่ผลิตในประเทศอินเดีย ได้แก่ 1. Promethazine oral solution BP 2. Kofexmalin baby cough syrup 3. Makoff baby cough syrup และ 4. Magrip N cold syrup โดย ตรวจพบการปนเปื้อนสารไดเอทิลีนไกลคอล (diethylene glycol) และเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) ซึ่งอาจส่งผลต่อไตจนมีเด็กในประเทศแกมเบียเสียชีวิต
ทั้งนี้ สารปนเปื้อนดังกล่าวจัดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ สภาพจิตใจผิดปกติ ไตวายและอาจเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อย.มีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด และจะดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา