ฮือฮาทั้งโลกโซเชียล หลัง “หมอกฤตไท” เปิดเพจสู้ดิวะ เล่าเรื่องราว ตัวเองจากชีวิตที่ดี มีอนาคตสดใส สุขภาพแข็งแรงกินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด ไม่อดนอน เพิ่งบรรจุเป็นอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้สองเดือน เตรียมแต่งงาน แต่เหมือนโลกทั้งใบพังทลายเมื่อตรวจพบเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ปอดขวาหายไปครึ่ง แถมเชื้อลุกลามไปอวัยวะอื่น เข้ารับการรักษาตัวได้ 1 เดือน จึงตั้งใจส่งต่อเรื่องราว หวังให้เป็นกำลังใจและพลังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ไม่พร้อมให้ใครมาเยี่ยม ซึ่งมีคนส่งกำลังใจให้ล้นหลาม ด้าน ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไม่ฟันธงกรณีหมอคนดังป่วยจากฝุ่น PM 2.5 แต่เตือนปัจจัยเสี่ยงจากมลภาวะ ชี้คนไทยเป็นมะเร็งปอดรายใหม่เฉลี่ย 50 คนต่อวัน เสียชีวิตเฉลี่ย 40 คนต่อวัน แนะเอกซเรย์ปอดปีละครั้งเพื่อคัดกรอง ลดโอกาสเสี่ยง
จากกรณีตลอดวันที่ 11 พ.ย.โลกออนไลน์แห่แชร์เรื่องราวของคุณหมอ อายุ 28 ปี ที่ถ่ายทอดเรื่องการเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายผ่านทางเพจ “สู้ดิวะ” โดยคุณหมอรายนี้ได้โพสต์ข้อความเป็นระยะมาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. โดยเริ่มจากแนะนำตัวว่าชื่อกฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี เกิดในครอบครัวใหญ่ที่มีอากงอาม่ากับหลานๆหลายสิบชีวิต ชีวิตวัยเด็กมีความสุขมากๆ เรียนจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 131 และสอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 56 เรียนหมอ 6 ปี แล้วเรียนต่อเฉพาะทางต่ออีก 3 ปี สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) ระหว่างที่เรียนเฉพาะทางไปศึกษาสาขาเฉพาะทางอีกอันหนึ่งคือ ระบาดวิทยาคลินิก (Clinical Epidemiology and Clinical Statistic) พร้อมเรียนปริญญาโท วิทยาการข้อมูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Data Science) อีกใบ ล่าสุดบรรจุเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สองเดือน
ส่วนของการใช้ชีวิต นพ.กฤตไทระบุว่า ชอบออกกำลังกายมาก เนื่องจากเป็นนักกีฬา เข้ายิม ดูแลสุขภาพดีมากๆ ให้ความสำคัญกับอาหารและการนอนหลับ ชอบอ่านหนังสือ ฟัง podcast ลงทุน ตามสไตล์วัยรุ่น กำลังจะแต่งงาน กำลังจะซื้อบ้าน แต่แล้วก็ตรวจพบเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เหมือนโลกทั้งใบแตกสลายไปต่อหน้า แผนชีวิตที่วางมาทั้งหมดพังลงต่อหน้าต่อตาเลย
ทั้งนี้ นพ.กฤตไทยังได้เปิดเผยภาพเอกซเรย์ปอดยืนยันพยาธิสภาพของโรคในฐานะผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย พร้อมอธิบายว่า “จากรูปจะเห็นชัดเจนครับว่าปอดด้านขวาผมหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยการมีก้อนขนาดใหญ่ถึง 8 เซนติเมตร และมีน้ำในปอดร่วมด้วย นอกจากนี้ เรายังจะเห็นก้อนเล็กๆในปอดด้านซ้ายด้วยอีกหลายก้อน และในด้านขวาบนเองก็มีก้อนเล็กๆเช่นกันครับ เอกซเรย์แบบนี้ ผมน่าจะหายใจเหนื่อยแม้แต่นั่งคุย หรือขึ้นไปสอนด้วยซ้ำ แต่ผมบอกเลยว่า วันก่อนจะเอกซเรย์นี้ ผมยังไปเล่นบาสในระดับนักกีฬาได้อยู่เลยครับ แต่โอเคผมรู้สึกว่าช่วงหนึ่งเดือนมานี้ ผมฟิตลดลงจริงๆ แต่ก็ยังฟิตพอจะเล่นกับน้องนักกีฬาบาสหนุ่มๆได้”
จากนั้นคุณหมอหนุ่มโพสต์เล่าเรื่องการวินิจฉัยและการรักษาที่ยืนยันว่า “เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกแล้วก็หายขาดได้ กำลังบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ได้ 2 เดือน ก็ได้ตั๋วเลื่อนขั้นเป็นอาจารย์ใหญ่เฉยเลย พร้อมระบุว่า มั่นใจในสุขภาพร่างกายตัวเองมากๆ ทั้งเข้ายิมสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยมากๆ ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เครียด นอน 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้ามาอ่านหนังสือ ทำวิจัยสอนนักศึกษา ไม่ได้เข้าเวรอดนอนอะไรเลย การงานอาชีพเรียกได้ว่ากำลังไปได้สวย ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ตามที่ฝันไว้ แล้วก็เริ่มไอ ไอมีเสมหะบ้าง ไอแห้งบ้าง ตรวจโควิดแล้วก็ไม่เจอ ตอนนั้นไปรักษาไปทางกรดไหลย้อนก่อน
คุณหมอหนุ่มระบุอีกว่า ผ่านไป 2 เดือน ระหว่างนี้สามารถเล่นกีฬาได้ตามปกติ ทำงาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีแค่เรื่องไอที่ไม่หายสักที จึงตัดสินใจไปตรวจจริงๆจังๆเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 แล้วผล Chest X-ray ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อฟิล์มที่ปอดข้างขวาพบเหลืออยู่ครึ่งเดียว ลักษณะเหมือนมีก้อนกับน้ำอยู่ในปอดด้านขวา และปอดด้านซ้ายมีก้อนเล็กๆเต็มไปหมด และหลังจากผ่านการตรวจทุกอย่างมาแล้ว ทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดเข้าไปเพื่อไปเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ผลคือเป็นมะเร็งปอดจริงๆ แถมเป็นระยะสุดท้ายด้วย โชคดีที่ไม่มีอาการทางสมองอะไร ทั้งที่ตำแหน่งที่มันกระจายไป สามารถทำให้แขนขาอ่อนแรง ชา เดินไม่ตรง ทรงตัวไม่ได้ หรือแม้แต่เสียการมองเห็นไปเลย อย่างไรก็ตาม คุณหมอหนุ่มระบุว่าได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้แล้ว พร้อมขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านจากใจจริงที่ให้ความช่วยเหลือมาก ทั้งการผ่าตัด การได้รับ chemotherapy Immunotherapy และได้รับการฉายแสงที่ศีรษะทันทีที่เจอก้อน นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ถ้าคนแบบตนเป็นมะเร็งได้ ทุกคนมีโอกาสเป็นได้จริงๆ โลกเราตอนนี้มันไม่ปกติทั้งมลภาวะ อากาศ น้ำ รังสีต่างๆ ยีนเรามันพร้อมกลายพันธุ์
คุณหมอหนุ่มย้ำอีกว่าเป็นคนมีสุขภาพที่โคตรแข็งแรง มีการงานที่โคตรมั่นคงและมีอนาคตสดใส และกำลังจะแต่งงานกับผู้หญิงที่รักมากที่สุด กำลังจะสร้างบ้านในฝัน แต่แล้วก็จั่วได้การ์ดที่ชื่อว่า มะเร็งระยะสุดท้าย กลายเป็นคนที่มีเวลาชีวิตจำกัดขึ้นมาทันที และล่าสุดคุณหมอใช้เวลาหนึ่งเดือนไปกับการรักษาทั้งสารรังสี ยาสลบ การผ่าตัด ยากระตุ้นภูมิ เคมีบำบัด รังสีรักษา รวมถึงยา molnupiravir เพราะหลังได้คีโมก็ติดโควิด และตั้งหลักชีวิตใหม่ พร้อมความตั้งใจฝากบางอย่างไว้ให้กับโลก โดยระบุ “ผมจะยังได้เป็นอาจารย์ จะยังได้มีลูกศิษย์ที่เติบโต ที่ได้เรียนรู้จากผมอยู่ มันคงจะดีมากๆ ถ้าการที่ชีวิตที่สั้นลงของผมสามารถเป็นกำลังใจ เป็นพลังให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อผมและเพื่อนรักของผม จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างเพจ (สู้ดิวะ) นี้ขึ้นมา เพื่อส่งต่อสิ่งเหล่านี้ครับ” ซึ่งมีผู้เข้าไปกดติดตามเพจและส่งกำลังใจให้คุณหมออย่างล้นหลามอย่างไม่ขาดสาย
จากนั้น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.กฤตไทอัปเดตเรื่องราวในเพจสู้ดิวะว่าขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้และขอบคุณคนที่ได้พลังไปจากโพสต์ของตน และจากใจคือตกใจมากๆ กับกระแสที่เกิดขึ้น ตั้งใจทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อจะรวบรวมความคิด มุมมอง และสิ่งที่ตกตะกอน เอาจริงๆ คือเพื่อจะเอาไปเขียนเป็นหนังสือรวมเล่มสักเล่มนึงแค่นั้น “ความตั้งใจของผม มีแค่การเขียนเล่าเรื่องราวและส่งต่อพลังให้กับคนอื่นเท่านั้นครับ” พร้อมระบุขณะนี้อยู่ในกระบวนการรักษา ยังต้องรับยาเคมีบำบัด ณ วันที่พิมพ์อยู่นี้ ยังคงปวดหัว อ่อนเพลีย ผมร่วง และภูมิคุ้มกันต่ำเหนือสิ่งอื่นใด ถึงจะดูจิตใจเข้มแข็งแค่ไหน แต่เรื่องทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นได้หนึ่งเดือน
“ผมและครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทเอง ยังไม่ได้อยู่ใน “สภาพที่พร้อมพอ” ที่จะให้ทุกคนมาเยี่ยม ที่จะไปเจอทุกคนได้ครับ หวังว่าทุกคนจะเข้าใจครับ รวมถึงสื่อต่างๆ ที่ให้ความสนใจ อยากจะสัมภาษณ์ผม โทร.ไปหาเพื่อน โทร.ไปหาครอบครัวผม และกำลังพยายามจะโทร.หาผม ผมต้องขอโทษจากใจจริงๆ ที่คงไม่สะดวกไปสัมภาษณ์กับสื่อสำนักไหนครับ” นพ.กฤตไทโพสต์และระบุอีกว่าดีใจมากๆ ที่เรื่องราวของตนสร้างแรงบันดาลใจและบางมุมทำให้หลายคนอยากส่งกำลังใจกลับมาให้ อยากช่วยเหลือ บางคนจะโอนเงินให้บ้าง จะบินมาหาบ้าง แต่ในมุมคนรับ อยากบอกว่าชีวิตปกติมันโอเคมากๆ แล้ว มีความสุขดีมากๆ ดังนั้น อยากจะแค่ขอพื้นที่ส่วนตัวให้ได้ใช้เวลาชีวิตแบบสุขสงบต่อไป เพื่อที่จะได้มีพลังมาบอกเล่าเรื่องราวดีๆต่อไป ขอบคุณทุกคนที่เข้าใจและพยายามจะเข้าใจครับ
วันเดียวกัน นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กรณีคุณหมออายุ 28 ปี โพสต์เรื่องราวผ่านสื่อโซเชียลถึงการเป็นมะเร็งปอด ทั้งที่ร่างกายแข็งแรงออกกำลังกายประจำไม่มีปัจจัยเสี่ยงว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุโรคต่างๆ เป็นผลวิจัยทางการแพทย์ แต่บางเรื่องเจอในคนน้อยมาก ผลวิจัยอาจจะยังไม่มี แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีสาเหตุ ในรายคุณหมอคนดังกล่าว อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าอยู่ในพื้นที่มีมลภาวะความเสี่ยง เช่น มีการเผาไหม้ มีฝุ่นควัน PM 2.5 แต่ PM 2.5 ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด แต่ตัว PM 2.5 เกิดขึ้นพร้อมกับสารหลายตัวที่มีหลักฐานที่ก่อมะเร็งได้ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น PM 2.5 สูง จึงอาจไปสัมพันธ์กับสารก่อมะเร็งที่สูงได้ หรืออาจจะเกิดจากมลภาวะอื่นๆ เช่น ที่มีการก่อสร้างมาก หากควบคุมไม่ดีมีฝุ่นควัน ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่เป็นสารก่อมะเร็งได้เป็นข้อมูลภาพรวมที่ไม่ได้เจาะจงว่าเกิดกับหมอคนดังกล่าว ดังนั้น แม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เหล้า บุหรี่ การพักผ่อน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เสี่ยงเป็นมะเร็ง ดังนั้นการคัดกรอง ตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้มลภาวะสิ่งแวดล้อมอาจจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในคนที่อายุน้อยลงได้ ภาพรวมคนที่อยู่ในมลภาวะ จึงมีความเสี่ยงเพิ่ม แต่ต้องบวกปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย สิ่งที่ดีสุดควรหลีกเลี่ยง หรืองดออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยที่กรองฝุ่น PM 2.5 ลดความเสี่ยงให้กับตนเอง
ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสังเกตถึงอาการที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดที่พบบ่อยคือไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ไม่หาย หรือหายใจแล้วเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด และอาการร่วมมีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ยิ่งต้องระวังและรีบพบแพทย์ อาการเหล่านี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นมะเร็งปอด แต่เป็นสัญญาณเตือน ซึ่งอาจจะเป็นโรคอื่น เช่น วัณโรค จึงต้องตรวจละเอียด ขณะที่สถานการณ์ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณปีละ 17,000 ราย แต่ละปีเสียชีวิต 14,000 ราย หรือเฉลี่ยพบผู้ป่วยมะเร็งปอด 50 คนต่อวัน เสียชีวิต 40 คนต่อวัน เป็นมะเร็งอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง แนวโน้มยังไม่ลด ทั้งนี้การตรวจสุขภาพปีละครั้ง เอกซเรย์ปอดปีละครั้งเพื่อคัดกรองจะลดโอกาสเสี่ยงลงได้