นายสมบูรณ์ หอมนาน ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ว่า มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งในส่วนของผู้แสดงดนตรี และผู้เข้าชม ทั้งนี้ ดนตรีในสวนปีนี้ ไม่ใช่เป็นการแสดงของ กทม. หรือเฉพาะองค์กรและสถาบันที่ กทม.ขอความร่วมมือมาเท่านั้น แต่จะมีเด็ก เยาวชน และประชาชนที่มีความสามารถทางด้านดนตรีเข้าร่วมแสดง โดยจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผู้เข้าร่วมแสดงจะได้รับประสบการณ์การทำงานกับมืออาชีพ อันเป็นบันไดขั้นแรกที่เปิดโอกาสให้ก้าวไปสู่การประสบความสำเร็จในอนาคตได้
ดังนั้น กทม.จึงได้จัดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจัดหาผู้ดำเนินการกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นรวม 52 ครั้ง และได้ผู้รับจ้างแล้วในงบประมาณรวม 7.33 ล้านบาท หรือคิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อครั้งเพียง 140,962 บาท โดยค่าใช้จ่ายหลักแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ค่าตอบแทนให้แก่วงดนตรี หรือนักดนตรีที่ร่วมแสดง และค่าอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดกิจกรรม ได้แก่ อุปกรณ์ด้านแสง สี เสียง ที่สำคัญคือ อุปกรณ์ปั่นไฟ เพราะดนตรีในสวนเป็นการแสดงนอกอาคาร (outdoor) การจัดการย่อมแตกต่างจากการแสดงภายในอาคาร
ส่วนงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมจากช่องทางปกติที่ กทม.มีอยู่ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลัก ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนผู้ที่สนใจในกิจกรรมดนตรีในสวนโดยเฉพาะ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารการจัดกิจกรรมอย่างทั่วถึง ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ตลอดกิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 ซึ่งมีแสดงรวม 52 ครั้ง อยู่ที่ 57,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.788 ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งกิจกรรม
กิจกรรมดนตรีในสวนปี 2566 จัดแสดงใน 12 สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 52 ครั้ง ในวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. มีวงดนตรีเด็ก เยาวชน ประชาชน ศิลปิน และผู้พิการเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 208 วง ในแต่ละครั้งมีการแสดงไม่น้อยกว่า 4 วง เฉพาะมกราคมเดือนนี้กำหนดจัดการแสดง 16 ครั้ง และจะจัดการแสดงในเดือนต่อๆไปจนครบ 52 ครั้ง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 30,000 คน.