- ยอดวัคซีนสะสมเดือน ก.ย. 2564 ทะลุ 21 ล้านโดส ทำสถิติฉีดมากที่สุด 24 ก.ย. วันมหิดล
- จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรก 2 ล้านโดส กระจายให้เด็กได้ฉีดทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับเปิดเทอม
- ตั้งเป้าเดือน ต.ค. 24 ล้านโดส มั่นใจถึงสิ้นปีนี้ ฉีดเข็มที่ 2 ได้ 74% มากกว่าแผนที่เคยตั้งไว้
ปิดฉากเดือนกันยายน 2564 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข เคยเผยแผนประมาณการจัดหาวัคซีนสำหรับเดือนกันยายน รวมแล้ว 17.3 ล้านโดส แบ่งเป็นที่รัฐบาลจัดหา 15.3 ล้านโดส ประกอบด้วย ซิโนแวค (Sinovac) 6 ล้านโดส แอสตราเซเนกา AstraZeneca 7.3 ล้านโดส ไฟเซอร์ (Pfizer) 2 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือกอย่าง ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหาอีก 2 ล้านโดส
ในช่วงวันที่ 25 ก.ย. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกันยายน ส่วนที่รัฐบาลจัดหานั้นเพิ่มขึ้นจาก 15.3 ล้านโดส เป็น 15.7 ล้านโดส ที่เพิ่มขึ้นมาคือส่วนของแอสตราเซเนกา 4 แสนโดส และซิโนฟาร์ม เพิ่มเป็น 10 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีที่ญี่ปุ่นบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา ให้อีก 3 แสนโดส และจากสิงคโปร์ที่เป็นแลกเปลี่ยนอีก 1.2 แสนโดสด้วย
ขณะที่แผนการจัดสรรและฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ จนถึง 30 กันยายน เข็มที่ 1 รวม 3 วัคซีน (ซิโนแวค, แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์) จะได้ราว 32 ล้านโดส ความครอบคลุมคิดเป็น 45% เข็มที่ 2 ฉีดด้วยแอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์ 18 ล้านโดส ความครอบคลุมคิดเป็น 18% และเข็มที่ 3 กระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ รวม 1 ล้านโดส
“วันมหิดล” ทำสถิติฉีดวัคซีนโควิดมากที่สุด
สำหรับวันที่มีการฉีดมากที่สุดคือ 24 กันยายน 2564 ซึ่งตรงกับ “วันมหิดล” โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดให้ได้ 1 ล้านโดสในวันเดียว โดยวันรุ่งขึ้นมีการแถลงยอดการฉีดไปทั้งสิ้น 1,300,677 โดส (ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ตัดยอดที่เที่ยงคืนวันที่ 24 กันยายน) เป็นเข็มแรก 841,769 โดส เข็มที่สอง 309,429 โดส และเข็มสาม 149,479 โดส โดยมี 7 เขตสุขภาพที่ฉีดได้เกิน 1 แสนโดส มากที่สุดคือเขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 148,887 โดส กทม. ฉีดมากที่สุด 64,880 โดส รองลงมาคือ ชลบุรี 48,316 โดส อุดรธานี 47,110 โดส นครราชสีมา 44,863 โดส และเชียงใหม่ 39,214 โดส ทำให้ประเทศไทยฉีดวัคซีนมาถึงครึ่งทางจากเป้าหมาย 100 ล้านโดส ครอบคลุม 50 ล้านคน ยอดฉีดสะสม 50,080,565 โดส เป็นเข็มแรก 44.45% ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของวันที่ 30 กันยายน ที่มีการรายงาน 2.28 ล้านโดส เป็นการนำข้อมูลจากการระดมฉีดวัคซีนตั้งแต่วันมหิดล 24 กันยายน ซึ่งมีการฉีดเชิงรุกและฉีดในชุมชน รวม 1,700,523 โดส รวมกับการฉีดของวันที่ 30 กันยายน 588,205 โดส เป็น 2,288,728 โดส
ยอดฉีดวัคซีนตลอดทั้งเดือน ทะลุ 21 ล้านโดส
จำนวนการฉีดวัคซีน ข้อมูลการรายงาน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เวลา 18.00 น.
- ยอดสะสมทั้งสิ้น 32,600,001 โดส
- เข็มแรก 23,795,098 โดส
- เข็มสอง 8,212,750 โดส
- เข็มสาม 592,153 โดส
จำนวนการฉีดวัคซีน ข้อมูลการรายงาน ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 18.00 น.
- ยอดสะสมทั้งสิ้น 53,784,812 โดส
- เข็มแรก 32,577,832 โดส
- เข็มสอง 19,838,574 โดส
- เข็มสาม 1,368,406 โดส
สรุปยอดการฉีดในเดือนกันยายน ดังนี้
- ยอดฉีดรวม 21,184,811 โดส
- เข็มแรก 8,782,734 โดส
- เข็มสอง 11,625,824 โดส
- เข็มสาม 776,253 โดส
ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นลอตแรกจาก 30 ล้านโดส ที่รัฐบาลจัดหา ขนส่งถึงประเทศไทยเวลา 04.35 น. วันที่ 29 กันยายน สายการบิน DHL เที่ยวบิน L 350 โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมรับมอบที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
กระจายวัคซีนไฟเซอร์ฉีดให้เด็กรับเปิดเทอม
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสรุปยอดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศในฐานข้อมูล 5,048,000 ราย มีผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีน 3,618,000 กว่าราย หรือคิดเป็น 71% โดยจะจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรก 2 ล้านโดสกระจายให้ทุกจังหวัด และจะส่งให้ครบภายในเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาอีก 8 ล้านโดส ในส่วนของลอตแรกจะเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 4 ตุลาคม ตามความพร้อม และไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจมีผู้แสดงความจำนงขอฉีดเพิ่มก็จะดำเนินการฉีดให้ ไม่เสียสิทธิ สถานที่ฉีดสามารถฉีดได้ทั้งที่สถานศึกษาและโรงพยาบาล เพื่อนำไปสู่การเปิดภาคเรียนและกลับมาเรียนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย
สำหรับการติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัยใช้ระบบเดียวกับผู้ใหญ่ คือ เฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และมีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน โดยกรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้น อัตราการเกิดต่ำมาก แต่ขอให้สังเกตอาการ คือ “แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย ใจสั่น หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ” หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ และข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่ม และความรู้สึกเหนื่อยจากการออกกำลัง อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยังฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนข้อเสนอการฉีดวัคซีนในเด็กผู้ชายเพียงเข็มเดียว จะมีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ หากมีการปรับเปลี่ยนจะดำเนินการให้ทันก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ส่วนกลุ่มเด็กประถมอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับวัคซีน ข้อแนะนำคือใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ดีก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้
ตั้งเป้าเดือน ต.ค. แผนวัคซีน 24 ล้านโดส
ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนในเดือนตุลาคมนั้น ในส่วนของรัฐบาลรวมวัคซีนทั้ง 3 ชนิด อยู่ที่ 24 ล้านโดส และตั้งเป้าจะฉีดให้ครบทั้งหมด ส่วนซิโนฟาร์มก็จะเข้ามาอีก 6 ล้านโดส รวมเป็น 30 ล้านโดส โดยมีแผนการจัดสรรและฉีดวัคซีน (1-31 ตุลาคม) เข็มแรกด้วย ซิโนแวค 5 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 4 ล้านโดส เข็มที่ 2 แอสตราเซเนกา 9 ล้านโดส ไฟเซอร์ 3 ล้านโดส เข็มที่ 3 แอสตราเซเนกา 1 ล้านโดส ไฟเซอร์ 1 ล้านโดส พร้อมตั้งเป้าการฉีดวัคซีนในสิ้นปีนี้ (31 ธันวาคม 2564) จะมีคนไทย 60 ล้านคน จะได้รับวัคซีนเข็มแรก คิดเป็น 85% ส่วนเข็มที่ 2 ยอดรวมที่ 52 ล้านโดส หรือ 74% มากกว่าแผนที่เคยตั้งไว้ที่ 70%
“หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไปวัคซีนทุกชนิดภูมิคุ้มกันจะลดลง จึงต้องมีการฉีดเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับซิโนแวคครบ 2 เข็มไปตั้งแต่มีนาคม-มิถุนายน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อและเสียชีวิต ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะทำให้ไทยเข้าสู่ประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 อีกประเทศในโลก”
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนจำต้องจ่ายเงินซื้ออย่าง โมเดอร์นา (Moderna) ที่ขณะนี้ตกอยู่ในความกังวลของประชาชนว่าจะได้ฉีดเมื่อไหร่แน่ ลอตแรก 1.9 ล้านโดส ที่เข้ามาจะถึงแขนประชาชนกี่ราย ก่อนหน้าระบุจะมาช่วงกลางตุลาคม ก็มีแววเลื่อนออกไปหลังจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ออกแถลงว่าอาจส่งมอบได้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็ออกแอ็กชันให้หลัง 1 วัน จะพยายามเร่งรัดให้ส่งตามกำหนดเดิม ก็มาดูกันว่าวัคซีนจะเข้ามาในวันใด
หลังจากนี้ยังต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะวัคซีนอะไร ชนิดไหน จะเป็นไปตามเป้าตามแผนหรือไม่อย่างไร และจนถึงสิ้นปี 2564 คนไทยจะได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ครอบคลุมประชากร 52 ล้านคน หรือ 74% ตามแผนอย่างที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้หรือไม่ ควบคู่กับการคลายล็อกมาตรการของ ศบค. ผ่อนปรนเปิดกิจการและกิจกรรมมากขึ้น ลดเวลาเคอร์ฟิวพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ลง 1 ชั่วโมง แต่ยังคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปจนถึง 30 พฤศจิกายน 2564 เพื่อปูทางนำไปสู่การเปิดประเทศ เปิดเมืองนำร่องท่องเที่ยวฟื้นความเป็นปกติในแบบ New Normal และให้เศรษฐกิจให้ไปต่อได้.