“กรมอุตุนิยมวิทยา” เปิดภาพชัด! เส้นทางพายุโซนร้อน “มาวาร์” ล่าสุดอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนตัวทางตะวักเฉียงเหนือ กำลังทวีความรุนแรงเป็น “พายุไต้ฝุ่น”
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่า “มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่ลมใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย
สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : วันที่ 22 – 28 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร และบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวัง: ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในช่วงวันที่ 23 – 28 พ.ค. 66 และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (21 – 22 พ.ค. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 1.6 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศลาว ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังอัพเดทเส้นทางพายุโซนร้อน “มาวาร์ (MAWAR)” เช้าวันนี้ (22 พ.ค. 66) ด้วยว่า “พายุฯนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น แล้ว และยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวักเฉียงเหนือ ทิศทางไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ จึงไม่ส่งผลกระทบกับสภาพอากาศบ้านเรา”
ขอบคุณภาพประกอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา