แฟนเพจของ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยสร้างไทย โพสต์กลางดึกก่อนเช้าวันศุกร์ (26 พ.ค.) ตอบโต้ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีมารยาทจากการถามคำถามนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระหว่างการแถลงข่าวการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่าง 8 พรรคการเมืองเมื่อวันจันทร์ (22 พ.ค.)
โพสต์ดังกล่าวมีข้อความดังนี้
“คือกุ 6เสียง ผู้เชียร์พรรคฝ่าย ปชต. ยิ่งกว่าเชียร์พรรคตัวเองมาตลอด พอออกมาพูด อยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้รักกัน, หมั้นกัน, แพ็คกัน ให้แน่นเท่านั้นแหละ ด่ากุไม่มีมารยาท จะต่อยกุ ให้กุไปพูดหลังบ้าน, ห้ามออกสื่อ ไม่งั้น 141จะทบทวนตัวเอง ทั้งที่กุไม่ได้พูดเพื่อพรรคตัวเองสักนิด แต่พอตัวเองอยากเป็นปธ.สภาฯ ปล่อยลูกน้องออกมาโต้ผ่านสื่อพรึ่บ เต็มฟีดทุกแพลตฟอร์ม แย่งชิงตำแหน่งกันแบบไม่อายลุง มัยไม่ถามหา #มารยาท บ้างอ่ะ” แฟนเพจ น.ต.ศิธา ทิวารี โพสต์
ย้อนประเด็นเดือดศิธา-ชลน่าน
ย้อนกลับไปเมื่อวันจันทร์ (22 พ.ค.) ในงานแถลงการเซ็นเอ็มโอยู น.ต.ศิธา ที่นั่งอยู่กับสื่อมวลชน ถามนายชลน่านว่ายืนยันว่าจะไม่หักหลังพรรคก้าวไกล และจับมือกันไม่ว่าอยู่ในสถานะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หรือไม่
วันต่อมา (23 พ.ค.) นายชลน่านให้สัมภาษณ์สดกับสำนักข่าวข่าวสด ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ร่วมรายการด้วย และกล่าวว่าการกระทำของ น.ต.ศิธา ทำเป็นการเสียมารยาท และฝากคุณหญิงสุดารัตน์ตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมเช่นนี้อีก
คืนวันเดียวกัน น.ต.ศิธา โพสต์เล่าถึงบรรยากาศหลังเซ็นเอ็มโอยูว่า นายชลน่านลงเวทีมาและยังพูดคุยกับตนปกติ แต่วันต่อมากลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไป จึงตั้งข้อสังเกตว่า “รับบรีฟ” มาจากใครหรือไม่
“ผมไม่ทราบว่า หลังจากนั้น คุณหมอโดนใครตำหนิ หรือไปรับบรีฟจากใครมา อยู่ๆวันนี้จึงงัวเงีย ออกมาพูดกับสาธารณชนว่า เป็นการเสียมารยาท และฝากหัวหน้าพรรคฯมาอบรมผม ด้วย” น.ต.ศิธา โพสต์
ถึงอย่างนั้นเมื่อวันพุธ (24 พ.ค.) น.ต.ศิธา ก็โพสต์ขอโทษ และอธิบายว่าตนเพียงต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่เป็น “ครอบครัวประชาธิปไตย” ที่สง่างาม และระบุว่าหลังจากนี้จะไม่ล้ำเส้นอีก
อย่างไรก็ตาม เวลาไล่เลี่ยกัน นายชลน่านก็แถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทยว่า ตนไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับ น.ต.ศิธา ทั้งยังถึงกับกล่าวว่าอยากให้พรรคก้าวไกล ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พิจารณาถึงความสำคัญระหว่างพรรคไทยสร้างไทยที่มี 6 เสียง กับพรรคเพื่อไทยที่มี 141 เสียง
เหตุนี้ส่งผลให้เวลาต่อมา น.ต.ศิธา ประกาศว่าตนยินดีลาออกจากพรรคไทยสร้างไทย เพื่อความสบายใจของนายชลน่าน และไม่อยากเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลใหม่จัดตั้งไม่ได้
ชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ซ้ำดราม่า
ระหว่างที่ดรามานี้กำลังดำเนินไป ประเด็นถกเถียงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนต่อไปก็เกิดขึ้นมาอยู่แล้วในโลกออนไลน์ โดยที่ตอนแรกยังไม่ได้รับความสนใจนักจากผู้คนในวงกว้าง
เมื่อนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลและอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เรียกร้องให้พรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะต้องได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นนี้จึงได้รับความสนใจมากขึ้น
เมื่อเช้าวันพุธ (24 พ.ค.) นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 18 พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอบโต้โพสต์ของนายปิยบุตรว่า พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากกว่าพรรคเพื่อไทยแค่ 10 เสียง และได้ตำแหน่งในฝ่ายบริหารไปแล้ว จึงควรแบ่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติให้พรรคเพื่อไทย ทั้งยังขู่ว่าถ้าไม่มีพรรคเพื่อไทยก็อาจเดินต่อไปไม่ได้
ต่อมา สมาชิกพรรคของทั้ง 2 ฝ่ายก็ออกมาให้ความเห็นกันถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (25 พ.ค.) ถึงเหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องได้ตำแหน่งดังกล่าว เช่น การผลักดันกฎหมายต่างๆ ทั้งของพรรค พรรคร่วมรัฐบาล และภาคประชาชนให้รวดเร็ว การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรื่อยไปถึงการตั้งสภาเยาวชน และการถ่ายทอดการประชุมคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการคณะต่างๆ
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประธานสภาฯ มักเป็นผู้มาจากพรรคอันดับ 1 มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวเท่านั้นที่ต่างออกไป คือหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ นายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับ 4 ได้ดำรงตำแหน่งนี้
เมื่อช่วงค่ำวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ยืนยันว่า การร่วมรัฐบาลควรแบ่งตำแหน่งอย่างยุติธรรม เพราะพรรคก้าวไกลเองก็ไม่ใช่เสียงข้างมาก ขณะเดียวกันก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้ใจกัน และไม่ควรใช้มวลชนมากดดัน
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่ง เห็นด้วยและมองว่าพรรคก้าวไกลไม่ควร “กินรวบ” ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกกลุ่มที่ตั้งข้อสังเกตว่า แถลงการณ์นี้ยังขาดเหตุผลที่โน้มน้าวได้ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงต้องการตำแหน่งประธานสภาฯ ไปหรือไม่ และควรเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน มากกว่าการแบ่งตำแหน่งหรือผลประโยชน์