“Saildrone” โดรนบันทึกภาพรวบรวมข้อมูล “พายุเฮอริเคน” ในมหาสมุทรแอตแลนติก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้น และทำให้พายุเฮอริเคนมีอานุภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อชุมชนชายฝั่ง ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาหนทางรับมือกับภัยทางธรรมชาติเหล่านี้ โดยใช้เทคโนโลยีพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยงาน และให้ทนทานต่อความรุนแรงของพายุขนาดใหญ่

เมื่อเร็วๆนี้นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ทดลองใช้รถยนต์ไร้คนขับหรือโดรนที่ติดตั้งกล้องในมหาสมุทร ลักษณะดูคล้ายหุ่นยนต์กระดาน โต้คลื่นลำเล็กๆ กำลังต่อสู้กับคลื่นสูง 15 เมตรและลมที่พัดแรงกว่า 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในพายุเฮอริเคนแซม เป็นพายุเฮอริเคนระดับ 4 ที่เคลื่อนผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก โดรนรุ่นนี้มีชื่อว่า Saildrone เป็นผลงานพัฒนาของบริษัทที่มีชื่อเดียวกัน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานลม ขนาดยาว 7 เมตร มีส่วนยื่นออกมาเรียกว่า “เฮอริเคน วิง” (hurricane wing) ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้ทนต่อสภาวะที่เลวร้ายขณะรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เพิ่มเกี่ยวกับพลังทำลายล้างของพายุประเภทนี้ ซึ่งเว็บไซต์ของ Saildrone ระบุว่าเครื่องมือนี้สามารถบันทึกการวัดความเร็ว ทิศทางลม ความกดอากาศ อุณหภูมิ ความเค็ม ความชื้น ฯลฯ

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแบบจำลองการคาดการณ์ที่ทำนายการเพิ่มความรุนแรงอย่างรวดเร็วของพายุเฮอริเคนในอนาคตเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.