4 จังหวัดใต้ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สถานการณ์โควิด-19 น่าเป็นห่วง ยอดผู้ติดเชื้อยังสูงลิ่ว จ่อโดนล็อกดาวน์ นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์งานศพน่าเป็นห่วงเช่นกัน แค่ครึ่งเดือนพบผู้ติดเชื้อถึงกว่า 800 คน พบมากสุดที่อุบลราชธานี ศบค.ขู่ หากไม่ป้องกันตัวเองแบบสูงสุด กราฟการติดเชื้ออาจพุ่งถึง 2.5-3 หมื่นคน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ของเด็กนักเรียนยันได้ฉีดครบทุกคน เผยเหตุล่าช้าเพราะวัคซีนทยอยเข้าไทย นักร้องดังยุค 90 “มอร์ มอร์กะจาย” ป่วยโควิด อาการหนักมาก เชื้อลงปอดถึง 60% กทม.เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-ป่วยติดเตียง
สถานการณ์โควิด-19 ใน 4 จังหวัดภาคใต้คือ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี อยู่ในขั้นน่าห่วงมากเพราะยังมีการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะที่ จ.ยะลา พบการติดเชื้อสูงลิ่วจนทำให้อาจต้องมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว
ติดเชื้อหลักหมื่นสองวันติด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 ต.ค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 11,140 ราย ผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 110,113 ราย อาการหนัก 3,003 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 682 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 116 ราย เป็นชาย 56 ราย หญิง 60 ราย ผู้เสียชีวิตพบมากสุดอยู่ใน กทม. 28 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 1,689,437 ราย หายป่วยสะสม 1,561,790 ราย เสียชีวิตสะสม 17,534 ราย มีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 911,677 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสม 58,298,700 โดส
ครึ่งเดือนติดเชื้องานศพ 838 ราย
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 8 ต.ค. ได้แก่ กทม.1,255 ราย ยะลา 776 ราย ชลบุรี 687 ราย นราธิวาส 592 ราย สมุทรปราการ 576 ราย ปัตตานี 503 ราย สงขลา 444 ราย นครศรีธรรมราช 395 ราย ระยอง 342 ราย จันทบุรี 284 ราย ภาพรวมสถานการณ์โลกมีแนวโน้มลดลง แต่หากดูเป็นรายประเทศจะพบว่าบางประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีการติดเชื้อใหม่ ขณะที่ไทยพบการติดเชื้อในกลุ่มผู้ไปงานศพ ระหว่างวันที่ 21 ก.ย.-7 ต.ค. รวม 838 ราย ใน 30 จังหวัด มากสุดที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 148 ราย ปัจจัยหลักจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไม่สวมหน้ากากอนามัย ถอดหน้ากากทานอาหารร่วมกัน ดื่มสุรา เล่นการพนันหลังงานศพ นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัด อาทิ ล้งผลไม้ ร้านทำป้าย จ.จันทบุรี วงหมูกระทะที่ จ.ลำปาง หอพักที่ จ.เชียงใหม่ ร้านเบเกอรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ฉีด mRNA ไม่มีผลต่อสุขภาพ
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วจะส่งผลต่อสุขภาพใน 1-2 ปีหลังฉีด ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ส่วนที่มีข่าวว่านักเรียนจะมาฉีดวัคซีนพอถึงเวลาแล้วให้กลับโดยยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ขอชี้แจงว่าวัคซีนไฟเซอร์มีเพียง 1.8 ล้านโดส มีผู้แจ้งประสงค์จะฉีด 3.6 ล้านคน มีการทยอยส่งไปเรื่อยๆ แต่อยู่ที่การจัดการของบางพื้นที่ เรื่องการนัดหมายอาจไม่สามารถมาฉีดพร้อมกันในเวลาสั้น การฉีดวัคซีนไม่ใช่เงื่อนไขที่จะเปิดหรือไม่เปิดโรงเรียน แต่อยู่ที่โรงเรียนทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการครบถ้วนหรือยัง เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีการรวมกลุ่มจัดการแข่งขันกีฬาให้คนหนาแน่นและมาตะโกนใส่กัน ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา บุคลากรได้รับวัคซีน 100% ดังนั้น เป็นเรื่องการจัดการในพื้นที่ ต้องดูรายละเอียดเหล่านี้ว่าจัดการดีแล้วหรือยัง
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง
เมื่อถามว่าการเดินทางโดยใช้บริการสายการบินต่างๆต้องผ่านการฉีดวัคซีนครบถ้วน หรือตรวจ ATK อย่างไร นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ศปก.ศบค.มีมติเห็นชอบเรื่องการปรับมาตรการ การรับผู้โดยสารบนอากาศยานตามความสามารถของอากาศยาน มีส่วนสำคัญ คือ ผู้ที่จะเดินทางได้ต้องฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ คือ 2 เข็มหรือต้องมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR ตรวจไม่พบเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ที่สำคัญการตรวจความพร้อมและการคัดกรองตั้งแต่จะเข้าพื้นที่ต้องเคร่งครัดและเข้มงวด หากมีความไม่พร้อมหรือตรวจพบข้อห้ามต่างๆ เช่น มีไข้ หรือไม่เข้าหลักเกณฑ์ จะมีเงื่อนไขไม่ให้เข้าใช้ในพื้นที่ ดังนั้น ประชาชนต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรืออาจทำให้เดินทางไม่ได้ ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หากเจ็บป่วยต้องหลีกเลี่ยงไม่เดินทาง
ขู่กราฟอาจพุ่งถึง 2.5–3 หมื่น
เมื่อถามถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังอยู่ที่หลักหมื่น ทั้งที่จะมีการผ่อนคลายมากขึ้นเรื่อยๆ ศบค.ต้องบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้กลับมาเกิดการระบาดระลอกใหม่ นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดถึงเรื่องเรามาถึงทางแยกคือผลของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาน่าจะจางลงหรือหมดไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ แนวโน้มจากกราฟดูเริ่มลดลง แต่ถ้าเราไม่มีมาตรการที่ดีพอ กราฟอาจพุ่งกลับสูงขึ้นอีกครั้งไม่อยากให้เกิดขึ้น หากดำเนินการไม่ดีการติดเชื้อรายใหม่อาจไปถึงวันละ 25,000 คน หรือใกล้ 30,000 คนได้
แนะควรป้องกันตัวสูงสุด
นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า ขอย้ำว่าเรื่องการฉีดวัคซีนถ้าเราฉีดกันกว้างขวางทุกพื้นที่เข้มมาตรการครอบจักรวาลป้องกันตัวแบบสูงสุดตลอดเวลาให้เสมือนหนึ่งว่าเราอาจจะเจอคนที่อาจมีเชื้อโควิดอยู่ในตัวหรือแม้แต่ตัวเราเองอาจมีเชื้ออยู่ในตัวได้ ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือและมาตรการอื่นๆ ต้องเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ATK เป็นเครื่องมือ นอกจากนี้จะเป็นเรื่องมาตรการของสถานที่ ที่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ ต้องมีมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง ขอให้กำลังใจประชาชนทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่อาจยังฉีดวัคซีนน้อยอยู่ ขอเชิญชวนให้มาฉีดวัคซีนกันมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพื่อทำให้ทุกมาตรการเข้มแข็งมากขึ้น เส้นกราฟลดลง จนสามารถเปิดบ้านเปิดเมืองได้
รับอาจล็อกดาวน์ 4 จว.ใต้
ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. เปิดเผยว่า มีแนวโน้มที่จะต้องล็อกดาวน์เข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องในขณะนี้ เพราะต้องมีมาตรการเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นผู้สื่อข่าวถามว่าจะเข้มงวดมาตรการอย่างไร พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปต้องหารือกันอีก 2 ครั้ง ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ศบค.วันที่ 14 ต.ค.
ยันนักเรียนได้ไฟเซอร์ครบทุกคน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในนักเรียนอายุ 12-18 ปี และมีข่าวว่าบางโรงเรียนต้องจับสลากเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนว่า ขอยืนยันว่ามีวัคซีนไฟเซอร์เพียงพอสำหรับฉีดให้นักเรียนทุกคน แต่เนื่องจากวัคซีนมีการทยอยเข้าไทย ไฟเซอร์ลอตแรกเข้ามาวันที่ 29 ก.ย. ทยอยส่งให้พื้นที่ต่างๆเป็นงวดๆในแต่ละพื้นที่ วันที่ 8-9 ก็ส่งไปอีก วันที่ 13 ต.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาอีก 1.5 ล้านโดส เมื่อตรวจสอบคุณภาพแล้วจะทยอยส่งไปฉีดให้นักเรียนจนครบทุกคน
แนะเปิดเพลงให้เด็กผ่อนคลาย
สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ของเด็กนักเรียนหลังการรับวัคซีน นพ.โสภณกล่าวว่า จากการฉีดให้นักเรียนตั้งแต่วันที่ 4-8 ต.ค. ส่วนมากมีอาการปวด บวมบริเวณที่ฉีด บางคนเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม คลื่นไส้อาเจียน แต่พบไม่มาก เมื่อรักษาแล้วก็เป็นปกติยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เป็นที่น่าสังเกตว่า บางครั้งการฉีดวัคซีนรวมกันในโรงเรียนเด็กอาจกลัวและมีอาการต่อๆกัน ดังนั้นการจัดสถานที่ฉีดทั้งในหอประชุม สนามกีฬา ควรจัดให้โปร่งไม่แออัดและควรเปิดเพลงให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เด็กเครียดหรือกังวล ครูหรือบุคลากรทางการแพทย์ควรอธิบายอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรักษาได้ที่ผ่านมาก่อนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียน มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวอายุ 12 ปีขึ้นไป พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 3 คน ทุกคนอาการไม่รุนแรงและรักษาหายเป็นปกติแล้ว
เข็ม 2 เด็กผู้ชายรอเก็บข้อมูล
นพ.โสภณกล่าวว่า ส่วนการประเมินว่าจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 กรณีเป็นเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง อายุ 16-18 ปี ฉีด 2 เข็มได้ตามปกติ เด็กอายุ 12-16 ปี ทั้งหญิงและชายที่มีโรคประจำตัวควรฉีด 2 เข็ม เพราะถ้ามีโรคประจำตัวแล้วป่วยเป็นโควิดด้วยจะมีอาการที่รุนแรง แต่กรณีเด็กชายอายุ 12 ปีถึงต่ำกว่า 16 ปี มีร่างกายแข็งแรง ต้องรอประเมินผลอีกระยะว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นหรือไม่ เพราะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่กังวลจะเกิดในเด็กไทยเหมือนต่างประเทศหรือไม่ ส่วนที่ต่างประเทศอนุมัติฉีดไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี สำหรับไทยต้องรอให้บริษัทผู้ผลิตมายื่นขอปรับข้อบ่งชี้การใช้วัคซีนเพิ่มเติม ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ดังนั้น ไทยยังคงฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปเช่นเดิมก่อน
รออนุมัติเพิ่มสูตรไขว้
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีวัคซีนไขว้ระหว่างแอสตราเซเนกา เข็มที่ 1 ตามด้วยไฟเซอร์ จะต้องรอให้ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติในวันที่ 11 ต.ค. มีแนวโน้มที่จะมีสูตรไขว้เพิ่มขึ้น คือ แอสตราเซเนกา ตามด้วยไฟเซอร์ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เหตุผลหลักคือเรามีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามามากในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. จึงต้องใช้วัคซีนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและวัคซีนแอสตราเซเนกากับวัคซีนไฟเซอร์ มีจำนวนมากพอๆกัน วัคซีนซิโนแวคคาดว่าจะฉีดหมดในเดือน ต.ค. ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบ 2 เข็ม คงต้องรอฉีดเข็มกระตุ้นไปก่อน เพราะแม้แต่ต่างประเทศยังไม่มีการฉีดเข็มที่ 3 สำหรับกลุ่มนี้ เนื่องจากการฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ภูมิจะอยู่ได้นานกว่าฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
“วิษณุ”อ้าง สธ.รอ ก.ม.โรคติดต่อได้
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ว่า ยังตัดสินใจอยู่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. ถ้าเป็น พ.ร.บ.ต้องเสนอต่อสภาฯ แต่ด้วยเหตุที่เป็น พ.ร.บ.ในเชิงปฏิรูปจะเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันสองสภาฯ แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็น พ.ร.ก. ขณะนี้ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ ถามว่าด่วนไหม ความจริงก็ด่วน แต่ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 172 ระบุว่า ถ้าออก พ.ร.ก.ระหว่างปิดสมัยประชุม ต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เราไม่อยากจะทำอย่างนั้นอาจจะรอไว้ใกล้ๆเปิดสมัยประชุมสภาฯแล้วค่อยดู หรือไม่ก็เอาเข้าสภาฯประชุมร่วมรัฐสภา ถ้าสภาฯไม่ล่มซะก่อน แต่เราหยั่งเสียงถามกระทรวงสาธารณสุขเจ้าของเรื่องตลอดเวลา เขาบอกว่าไม่เป็นอะไร และใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปพลางได้ เมื่อถามว่า หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านและล่ม รัฐบาลจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร นายวิษณุตอบว่า ก็แน่นอนอยู่แล้ว
ชม ศธ.เตรียมพร้อมเปิดเรียน
ที่ จ.สระแก้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนำคณะลงพื้นที่โรงเรียนวังน้ำเย็นวิทยาคม อ.วังน้ำเย็น ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา ทางการแพทย์ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน มอบถุงยังชีพแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พล.อ.ประวิตรกล่าวชื่นชมศึกษาธิการ จ.สระแก้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีทั้งด้านการแพทย์ การศึกษา ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในชื่อโครงการ “สถานศึกษา และเด็กสระแก้ว ปลอดภัย จากโรคโควิด-19” พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหา โดยเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มเพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครอง จ่ายเงินช่วยให้คนละ 2,000 บาทไปแล้ว พร้อมทั้งเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แก่เด็กนักเรียนอายุระหว่าง 12-18 ปี เพื่อให้สามารถเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ต่อไปได้
“มอร์ มอร์กะจาย” ป่วยโควิด
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กของมอร์กะจาย ได้เผยแพร่อาการป่วยของมอร์ มอร์กะจาย หรือ
นายธนพัชร์ ซัวเกษม นักร้องยุค 90 เจ้าของเพลงดังอย่าง “เพียงเธอหลับตา” ที่ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมเผยแพร่ภาพของมอร์ที่กำลังนอนซมอยู่บนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านนวมินทร์ ในเฟซบุ๊กระบุด้วยว่าผู้โพสต์ภาพนี้คือน้องพลอย พร้อมมีแคปชันว่า อัปเดตอาการพี่มอร์ วันที่ 8 ยังคงต้องใช้ออกซิเจนแรงดันสูง เพราะเชื้อกินปอดกว่า 60% ค่าการอักเสบดีขึ้นบ้างแต่ออกซิเจนในเลือดยังต่ำมาก ห้ามลุกจากเตียง ขับถ่ายทุกสิ่งบนเตียง เริ่มทานข้าวได้บ้าง โดยหลังจากมีการโพสต์ข่าวของมอร์ออกไป มีแฟนเพลงจำนวนมากคอมเมนต์ส่งความห่วงใยและส่งกำลังใจขอให้นักร้องดังอาการดีขึ้นเร็วๆ โดยก่อนหน้าที่จะป่วย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. มอร์ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ผมขอไว้อาลัยให้กับคนที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ทั่วโลก ค่ำคืนนี้ผมได้สวดมนต์-เจริญภาวนา-สมาธิกรรมฐานถือศีล กินมัง (วันอาสาฬหบูชา) ขอเผื่อแผ่บุญนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายและขอให้สู่สุคติ สู่ภพภูมิที่ดีดีกันถ้วนหน้า ผู้ที่ติดเชื้อขอให้รอดปลอดภัย ใครที่ไม่ติดเชื้อขอให้ปลอดภัยดูแลตัวเองและคนที่คุณรักนะคับ#รักและห่วงใย#มอร์กะพลอยกะพอล
เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ–ป่วยติดบ้าน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า ขณะนี้ กทม.ได้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จากข้อมูลการให้บริการวัคซีนกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค.-5 ต.ค. ปรากฏว่า มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงลงทะเบียนขอรับวัคซีน 8,762 ราย แต่มีผู้เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีน 4,796 ราย และเข้าฉีดแล้ว 3,918 ราย ทั้งนี้ ผู้ที่ประเมินแล้วแต่ไม่เข้าเกณฑ์การรับวัคซีน ได้แก่ ผู้เคยได้รับวัคซีนจากหน่วยงานอื่นแล้วติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 3 เดือน อยู่นอกเขตพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในเขตรับผิดชอบศูนย์บริการสาธารณสุขอื่น ติดต่อไม่ได้ ปฏิเสธการรับวัคซีน ลงทะเบียนช้า และอื่นๆ เช่น อายุต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่มีภาวะติดบ้านติดเตียงหรือพิการ เป็นต้น
สระแก้วยังติดหลักร้อย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้วรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 113 ราย อยู่ใน อ.เมืองสระแก้ว 31 ราย, อ.อรัญประเทศ 21 ราย, อ.วัฒนานคร 21 ราย, อ.ตาพระยา 10 ราย, อ.โคกสูง 6 ราย, อ.วังน้ำเย็น 4 ราย, อ.เขาฉกรรจ์ 3 ราย, อ.คลองหาด 1 ราย, อ.วังสมบูรณ์ 1 ราย ถือว่าพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสระแก้วครบทั้ง 9 อำเภอ ที่เหลือติดเชื้อจากจังหวัดอื่น 8 ราย คนไทยติดเชื้อจากกัมพูชา 7 ราย ส่วนจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จนท.รับตัวคนไทยพนักงานออนไลน์ในบ่อนกาสิโนฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา ที่หนีโควิด-19 ในกัมพูชา ขอกลับไทยผ่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก จำนวน 12 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 4 คน
ร้องทุกข์สามีฉีดวัคซีนตาย
ที่ จ.ชลบุรี น.ส.จันทร์เพ็ญ เรืองทวีมีลาภ อายุ 41 ปี ร้องทุกข์กับผู้สื่อข่าวว่าสามีชื่อนายอรรถพงษ์ แดงสว่าง อายุ 47 ปี ทำงานบริษัท ไทร์โมลด์ (ประเทศไทย จำกัด) ไปฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มตามโควตาบริษัทที่ รพ.บีเอ็มซีพลัส อ.ศรีราชา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. พอกลับมาบ้าน มีอาการปวดหัว เป็นไข้ จนวันที่ 3 ต.ค. ลูกพบนอนน้ำลายฟูมปากจึงนำส่ง รพ.พานทองและเสียชีวิต ปกติสามีไม่เคยป่วยหรือมีโรคประจำตัว ก่อนหน้าไปรับฉีดวัคซีนก็ปกติดี จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิต การสูญเสียครั้งนี้นับว่าเป็นบทเรียน ลูกสาวที่เรียนอยู่ ม.5 ได้ลงชื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของโรงเรียนและจะฉีดเร็วๆนี้ ตนและญาติพี่น้องปรึกษากันแล้วยืนยันจะไม่ให้ลูกสาวฉีดวัคซีนดังกล่าวเพราะกลัวสูญเสียลูกตามพ่อไปอีกคน
ไทยหลุดบัญชีแดงอังกฤษ
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษประกาศปรับลดรายชื่อประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ “สีแดง” หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นเนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาดสูง จาก 54 ประเทศ เหลือ 7 ประเทศ โดยประเทศในอาเซียนที่ถูกถอดจากรายชื่อสีแดงมีทั้งประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เท่ากับการเดินทางไปอังกฤษไม่ต้องกักตัว 10 วัน แต่ยังต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบและฉีดวัคซีนที่อังกฤษรับรองครบโดส มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 11 ต.ค. ส่วนกลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย แสดงความกังวลต่อกรณีรัฐบาลชาติต่างๆ ทั้งออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เจรจาซื้อยาต้านไวรัสโควิด-19 แบบเม็ด โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัทเวชภัณฑ์เมอร์ก สหรัฐฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียตรวจสอบข้อมูลการทดสอบและผลข้างเคียงฉบับเต็มก่อนตัดสินใจใดๆ พร้อมอธิบายว่า โมลนูพิราเวียร์ใช้เทคโนโลยีเดียวกับกลุ่มยาเคมีบำบัดรักษามะเร็ง หรือคีโมเธอราปี โดยจะบังคับให้ไวรัสกลายพันธุ์จนสูญเสียรหัสพันธุกรรมในตัวเอง และไม่สามารถขยายตัวได้อีก