ศบค.พบคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง อยู่ในกทม. 2 แห่ง ตจว. 3 แห่ง เป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ล้อรถยนต์ โรงงานไม้ยางพารา บริษัทผลิตจานดาวเทียม สลด ! วันนี้มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 คน เผยยอดผู้ติดเชื้อ ตจว. กับ กทม.และปริมณฑล สัดส่วน ตจว.เพิ่มเป็น 71.49% จาการเดินทางข้ามไปจากพื้นที่สีแดง แนะเตรียมตั้งระบบ Home Isolation รองรับเหมือน กทม.
วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รวม 15,376 ราย จำแนกเป็นการติดเชื้อใหม่ 14,335 รายติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,041 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 483,815 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 6,782 ราย หายป่วยสะสม 314,049 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) เสียชีวิต 87 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่เกิดโควิดอยู่ที่ 512,678 ราย และเสียชีวิตสะสมจำนวน 4,146 ราย
สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 80,943 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 9,991 ราย ส่วนระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 25 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 15,960,778 โดส
ส่วนผู้รับการรักษาตัวล่าสุดอยู่ที่ 167,057 ราย เป็นการรักษาตัวในโรงพยาบาล 96,038 ราย รพ.สนาม 71,019 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 4,289 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 967 ราย
ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 194,825,130 ราย อาการรุนแรง 84,405 ราย รักษาหายแล้ว 176,767,088 ราย เสียชีวิต 4,175,080 ราย
สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 35,199,465 ราย 2.อินเดีย จำนวน 31,409,639 ราย 3.บราซิล จำนวน 19,688,663 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 6,126,541 ราย 5.ฝรั่งเศส จำนวน 5,993,937 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 47 ของโลก จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 512,678 ราย
10 จังหวัดป่วยสูงสุด เสียชีวิตในบ้านเพิ่ม 5 ราย
ในส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น กทม. จำนวน 2,573 ราย รวมสะสม 134,628 ราย รองลงมาได้แก่ สมุทรสาคร 1,074 ราย สมุทรปราการ 970 ราย ชลบุรี 867 ราย นนทบุรี 719 ราย ระยอง 411 ราย ฉะเชิงเทรา 320 ราย นครปฐม 311 ราย ปทุมธานี 301 ราย พระนครศรีอยุธยา 290 ราย (ตามตาราง)
สำหรับยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ ยังไม่ได้นำยอดจากการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) มารวมด้วย คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการนำตัวเลขมารวมด้วย เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น
ส่วนผู้เสียชีวิต 87 รายวันนี้ อยู่ใน กทม. มากที่สุด 40 คน ปทุมธานี 6 คน สมุทรสาคร 2 คน นนทบุรี 1 คน สมุทรปราการ 1 คน ปัตตานี 6 คน กระบี่ 2 คน (ตามตาราง)
ส่วนค่ากลางของอายุอยู่ที่ 64 ปี (28-96 ปี) สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคยังมาจากความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ยังมาจากบุคคลในครอบครัว คนอื่น ๆ รวมถึงมีการอาศัยและเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด
“ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อของเรือนจำมีตัวเลขค่อนข้างสูงกลับมา ส่วนกลุ่มผู้เสียชีวิตตัวเลขใหญ่ยังอยู่ในกทม. วันนี้มีรายงาน 40 ราย และจะเห็นได้ชัดว่าวันนี้ การรายงานผู้เสียชีวิตค่อนข้างกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ กทม.และปริมณฑล หรือจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มสีแดงเข้ม มีการกระจายไปยังต่างจังหวัดทั่ว ๆ ทีเดียว และที่สำคัญยังอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว และมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อเทียบอัตราส่วนของ กทม.และปริมณฑลกับในพื้นที่ต่างจังหวัด 71 จังหวัด ตอนนี้สัดส่วนอยู่ที่ 41% ต่อ 59% แล้ว โดยต่างจังหวัด 71 จังหวัดเมื่อก่อนนี้เคยเป็นตัวเลขเล็ก ๆ แต่ตอนนี้แซงหน้า กทม.และปริมณฑลไปแล้ว (ตามกราฟ)
และถ้าแยกเป็นเขตสุขภาพของสาธารณสุข จะพบว่า เขตสุขภาพที่ 1 ตัวเลขที่แสดงสูง เป็นผู้ที่เดินทางกลับไปจาก กทม.และปริมณฑล เลยทำให้จังหวัดเหล่านี้มีผู้ติดเชื้อที่เรียกว่า “เชื้อนำเข้า” สูงขึ้น
เช่น เขต 1 อยู่ที่น่าน พะเยา แพร่ เขต 2 อุตรดิตถ์จะสูงสุด เขตสุขภาพที่ 3 มีทั้งนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท เขต 7 จะอยู่ที่ขอนแก่น เขต 8 นครพนม สกลนคร เขต 9 นครราชสีมา เขต 10 อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เป็นต้น (ดูรายละเอียดตามกราฟแท่ง)
แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า ถ้าแยกเป็นเขตจากการรายงานศักยภาพของแต่ละจังหวัดก็ค่อนข้างตึงเหมือนกัน อัตราครองเตียงบางที่ขึ้นไปถึง 70% ของเตียงที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดนั้น และมีรายงานของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดเหล่านี้มากขึ้น ขณะที่บางจังหวัดมีนโยบายรับผู้ป่วยกลับไปรักษาที่จังหวัดนั้น ๆ ด้วย
“คุณหมอทวีศิลป์ ที่เป็นผู้ตรวจราชการของ สธ.และลงพื้นที่ ได้สะท้อนภาพให้เห็นว่าการจัดการในพื้นที่ในหลาย ๆ จังหวัดที่พบประชาชนติดเชื้อ เป็นพื้นที่ที่เดินทางกลับไปจากพื้นที่สีแดงเข้ม และได้เน้นย้ำให้จังหวัดที่กำลังมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต้องเฝ้าระวัง เพราะแต่ละจังหวัดศักยภาพระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ก็เริ่มจะตึงเหมือนกัน และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเตรียมระบบ Home Isolation รองรับเหมือนที่กรุงเทพมหานครด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว
พบคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่ง กทม.เฝ้าระวัง 142 แห่ง
สำหรับ คลัสเตอร์ใหม่ใน กทม. วันนี้ ศบค.รายงานว่า วันนี้ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 142 แห่ง และพบการติดเชื้อในคลัสเตอร์ 2 แห่งใหม่ เป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้ง 2 แห่ง แต่ไม่มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีจำนวนเท่าไร (ดูตารางท้ายข่าว) ได้แก่
- เขตสาทร พบ บริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 1 แห่ง
- เขตธนบุรี พบ บริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป 1 แห่ง
ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด พบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่
- ระยอง โรงงานล้อรถยนต์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11 ราย
- นครศรีธรรมราช อ.บางขัน โรงงานไม้ยางพารา พบผู้ติดเชื้อ 91 ราย
- สุพรรณบุรี อ.สองพี่น้อง เป็นบริษัทผลิตจานดาวเทียม พบผู้ติดเชื้อ 27 ราย
ขณะที่คลัสเตอร์เดิมที่พบก่อนหน้านี้ ก็ยังพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เช่นที่ จ.ลพบุรี อ.พัฒนานิคม โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ พบผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,248 รายแล้ว
เช่นเดียวกับที่ จ.สมุทรสาคร โรงงานเสื้อผ้าก็พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 146 ราย มียอดสะสม 297 รายแล้ว หรือที่ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 21 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสมล่าสุด 435 รายแล้วเช่นกัน