“ทนายนรวิชญ์” เตือนอย่าหลงกล! ลากยาวโหวตนายกฯๆไป 10 เดือน อาจเสียค่าโง่ราคาแพง โดยเฉพาะสว.ครบ 5 ปี แล้วโหวตเลือกนายกฯไม่ได้ อาจมีการเสียบปลั๊ก! อยู่ต่อไปอีกด้วยอภินิหารทางกฎหมาย
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความคนดัง และผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์เนื้อหาในเฟซบุ๊กว่า อย่าหลงกล “ลากยาวโหวตนายกฯ 10 เดือน” อาจเสียค่าโง่ ราคาแพง
มีนักกฎหมายและอาจารย์กฎหมายหลายๆท่าน ออกมาประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ลากยาวโหวตนายกฯถึง 10 เดือน เพื่อรอให้ 250 สว. พ้นวาระ (11พฤษภาคม2567) ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า หากปล่อยให้ลากโหวตนายกฯยาวถึง 10 เดือน จะเป็นการเข้าทางอีกฝ่าย และจะเป็นการเสียค่าโง่ที่แพงมาก
เราก็รู้ๆกันอยู่ว่ารธน.60 ฉบับนี้ไม่ธรรมดา และมีอะไรที่ซ่อนคมไว้เยอะ “สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจจะไม่เห็น” ตามรธน.60 จะเห็นได้ว่า มีผูกมัดเชื่อมโยงกันหลายมาตรา
ฉะนั้นหากอ่านไม่ละเอียด เชื่อมโยงกันไม่ได้ คิดไม่หลายชั้น เชื่อได้เลยว่า จะมองไม่เห็นคมที่ซ่อนอยู่อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะมาตรา 272 +109 โดยส่วนตัวแล้วไม่อาจไว้วางใจ ให้ลากยาวโหวตไปถึง 10 เดือนได้ เพราะเห็นว่าระหว่างทาง และปลายทาง อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้แน่
ผมมีเหตุผลสนับสนุนคือ 1.ในช่วงระหว่างทาง คือ ในช่วงระหว่าง 10 เดือน นับแต่วันนี้ ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 อุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ 1.อาจมีการยื่นขอแก้ไข รธน.60 มาตรา 272 ได้ ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่ใช่การยื่นขอแก้ไขเพื่อปิดสวิตซ์ สว. แต่จะเป็นการ “เสียบปลั๊ก” ต่อท่ออำนาจจาก 5 ปี ออกไปอีก ที้งนี้เพื่อให้ 250 สว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ได้จนกว่าจะได้นายกฯ
เรื่องอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหลังการโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 มีพรรคการเมืองบางพรรคจะยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตซ์ สว. มาแล้ว “คิดดูครับว่าอีกฝ่ายจะนิ่งเฉย รอให้คนอื่นมาปิดสวิตซ์ตนฝ่ายเดียวหรอ”
2.เมื่อการโหวตตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ไม่สำเร็จ ถือว่า 272 วรรคหนึ่ง ไม่อาจใช้บังคับได้ จำต้องใช้บทบัญญัติในวรรคสองที่เป็นข้อยกเว้นตามวรรคหนึ่งแทน คือ ให้สภาโหวตนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมือง หรือที่เรียกง่ายๆว่า “นายกฯคนนอก” แม้การยกเว้นจะใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา
“หากเป็นเช่นนั้นจริง ในภาวะนั้น นายกฯคนนอก คุณคิดว่า จะเป็นใคร?”
3.ส่วนในช่วงปลายทาง คือ หลังครบ 10 เดือน (หลัง 11 พฤษภาคม 2567) แม้ตาม ร.ธ.น.60 มาตรา 272 วรรคแรกจะระบุว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่ … ให้ความเห็นชอบบุคคลสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี…” นั้น
คำว่า “ในระหว่างห้าปีแรก” มีนักกฎหมายหลายท่าน เห็นว่าเมื่อครบ 5 ปี แล้ว 250 สว. ก็ไม่มีอำนาจให้ความเห็นชอบ หรือโหวตนายกฯอีกต่อไป ซึ่งความเห็นดังกล่าวก็ไม่ผิด
แต่หากพิจารณามาตรา 272 ประกอบมาตรา 109 วรรคสาม ที่ระบุว่า “เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้สมาชิกวุฒิสภาอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่”
ให้สังเกตุข้อความที่ว่า “สิ้นสุดลง” “ให้อยู่ในตำแหน่ง” และ “เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป” เมื่อนำไปประกอบกับข้อความว่า “ในระหว่างห้าปีแรก” และ “ให้ความเห็นชอบ” ตามมาตรา 272 วรรคแรกนั้น
อาจจะมีนักร้อง หรือแม้แต่สมาชิกในสภาเองไปร้องว่า “เมื่อในวาระแรกห้าปีนั้น รธน.มาตรา 272 ให้อำนาจ 250 สว. การให้ความเห็นชอบโหวตนายกฯ ซึ่งได้ทำหน้าที่ในวาระแรกห้าปีแล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ
ฉะนั้น 250 สว. จึงยังมีอำนาจตามมาตรา 272 ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ แม้จะหมดอายุของ สว. ตาม รธน.60 มาตรา 269(6) + มาตรา 109 ก็ตาม “
“แล้วท่านคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่? ในส่วนตัวเห็นว่า “ด้วยบ้านเราอภินิหารกฎหมาย ยิ่งใหญ่กว่าทฤษฎีกฎหมายใดๆในโลก”
ฉะนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ และมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 และเรื่อง 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งนายกฯตามมาตรา 158 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไรเลย แต่ท้ายที่สุดก็เป็นที่รู้กัน?
แต่สำหรับมาตรา 272 ประกอบ มาตรา 269(6) + มาตรา 109 นั้น ผมว่าน่าจะมีอภินิหารมากกว่า ข้อบังคับการประชุมข้อ 41 และมาตรา 158
“ติติงด้วยความเป็นห่วง ในฐานะพวกเดียวกัน ไม่อยากให้หลงกล และต้องเสียค่าโง่ในราคาแพงครับ”