นักวิทยาศาสตร์คืนชีพพยาธิตัวกลมโบราณ ที่จำศีลอยู่ในไซบีเรีย ใต้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวหรือเพอร์มาฟรอสต์ ตั้งแต่ราว 46,000 ปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์ได้ชุบชีวิตพยาธิตัวกลมโบราณชนิดหนึ่ง ที่จำศีลอยู่ในไซบีเรียตั้งแต่เมื่อ 46,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แมมมอธ เสือเขี้ยวดาบ และกวางไอริช ยังคงมีชีวิตอยู่บนโลก
เตย์มูราส คูร์ซชาเลีย ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งสถาบันชีววิทยาระดับโมเลกุลและพันธุศาสตร์มักซ์ พลังค์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า พยาธิตัวกลมซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รู้จักมาก่อนนี้ รอดชีวิตมาได้หลังจำศีลอยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว หรือเพอร์มาฟรอสต์ (Permafrost) ลึกกว่า 40 เมตร
เขาอธิบายว่า พยาธิตัวกลมนี้อยู่ในสภาวะคริปโทไบโอซิส (Cryptobiosis) หรือการลดกระบวนการเผาผลาญในร่างกายจนถึงระดับที่ตรวจจับไม่ได้ จนคล้ายกับว่าไม่มีชีวิตแล้ว เรียกว่าเป็นสถานะ “เสมือนไร้ชีวิต” คล้ายกับการจำศีล ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะทำให้พยาธิตัวกลมสามารถทนต่อการขาดน้ำหรือออกซิเจนได้ ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ ตลอดจนทนต่อสภาวะเยือกแข็งหรือเค็มจัดได้
การคืนชีพให้กับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสภาวะคริปโทไบโอซิสไม่ใช่เรื่องยาก เพียงหยดน้ำลงไปหรือเอาน้ำไปชโลม พวกมันก็จะ “ตื่น” ขึ้นมาอีกครั้ง
“มันสามารถหยุดชีวิตไว้ชั่วคราวแล้วเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้นได้ นี่เป็นการค้นพบครั้งสำคัญ” เขากล่าว และเสริมว่า ก่อนหน้านี่มีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่เคยฟื้นขึ้นมาจากสภาวะคริปโทไบโอซิส แต่ส่วนใหญ่จะจำศีลหลายสิบปีเท่านั้น ไม่ได้นานเป็นพันปีหมื่นปีอย่างนี้ เช่น หมีน้ำ (Tardigrade) ซึ่งจำศีลได้นานสุดราว 30 ปี
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์เคมีและปัญหาชีวภาพในวิทยาศาสตร์ดิน จากรัสเซีย พบพยาธิตัวกลม 2 สายพันธุ์ในดินเพอร์มาฟรอสต์ในไซบีเรีย
หนึ่งในนักวิจัย อนาสตาเซีย ชาทิโลวิช ได้ชุบชีวิตพยาธิตัวกลม 2 ตัวด้วยการเติมน้ำให้พวกมันอีกครั้ง ก่อนที่จะนำพยาธิตัวกลัมที่เหลือประมาณ 100 ตัวไปที่ห้องแล็บในเยอรมนีเพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม
หลังจากืนชีพพยาธิตัวกลมแล้ว นักวิทยาศาสตร์ใช้การวิเคราะห์คาร์บอนกัมมันตภาพรังสีเพื่อพิสูจน์ว่าพวกมันจำศีลอยู่ในดินเพอร์มาฟรอสต์ตั้งแต่เมื่อไหร่ และพบว่า ดินที่พวกมันจำศีลอยู่ไม่เคยถูกละลายเลยตั้งแต่ระหว่าง 45,839-47,769 ปีที่แล้ว
ขณะที่ผลการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมแสดงให้เห็นว่า พยาธิตัวกลมเหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งนักวิจัยตั้งชื่อว่า “พานาโกรไลมัส โคลีมาเอนิส” (Panagrolaimus kolymaenis)
นักวิจัยยังพบว่า พานาโกรไลมัส โคลีมาเอนิส สามารถผลิตน้ำตาลที่เรียกว่า ทรีฮาโลส (trehalose) ซึ่งอาจทำให้พวกมันทนต่อการแช่แข็งและขาดน้ำได้
ด้าน ฟิลิปป์ ชิฟเฟอร์ จากสถาบันสัตววิทยามหาวิทยาลัยโคโลญจน์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การได้เห็นวิถีทางชีวเคมีแบบเดียวกันนี้ในสิ่งมีชีวิตโบราณ หมายความว่ากระบวนการบางอย่างในวิวัฒนาการได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างลึกซึ้ง”
ชิฟเฟอร์กล่าวเสริมว่า ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่นำไปปฏิบัติได้อื่น ๆ ซึ่งสามารถรวบรวมได้จากการศึกษาสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ “จากการดูและวิเคราะห์สัตว์เหล่านี้ เราอาจสามารถศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน หรืออาจพัฒนาความพยายามในการปกป้องสายพันธุ์อื่น หรืออย่างน้อยก็เรียนรู้ว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตจากสภาวะสุดขั้วที่โลกกำลังเผชิญในตอนนี้”
เรียบเรียงจาก CNN
ภาพจาก Institute of Physicochemical and Biological Problems in Soil Science