“เอเวอร์แกรนด์-บริษัทลูก” ยื่นศาลสหรัฐให้พิทักษ์ทรัพย์-กันเจ้าหนี้ยึด

เอเวอร์แกรนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สะสมมากที่สุดในโลกจากจีน ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐ เพื่อให้ออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ตามหมวด 15 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ ระหว่างพยายามทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทเสียใหม่

หมวด 15 ของกฎหมายล้มละลายของสหรัฐให้อำนาจศาลล้มละลายออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทต่างชาติที่มีปัญหาทางการเงินที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง ไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ยึดไป

นอกจากเอเวอร์แกรนด์แล้ว เทียนจี โฮลดิงส์ บริษัทลูกของเอเวอร์แกรนด์ และซีเนอรี เจอร์นีย์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเทียนจีอีกทอดหนึ่ง ก็ยื่นให้ศาลล้มละลายแมนฮัตตันออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

วิกฤตหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ตกเป็นข่าวมาตั้งแต่ปี 2564 หลังจากมีการรายงานว่าพบว่าบริษัทนี้มีหนี้ถึงกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ (10.6 ล้านล้านบาท)

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ พยายามทำข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่นอกจีน ทั้งยังออกข้อเสนอออกมาว่าจะให้บรรดาเจ้าหนี้แลกหนี้ของตัวเองกับตราสารหนี้ใหม่ที่ออกโดยบริษัทและหุ้นของ 2 บริษัทในเครือ ได้แก่ Evergrande Property Services Group (เอเวอร์แกรนด์ พรอเพอตี เซอร์วิเซส กรุ๊ป) และ Evergrande New Energy Vehicle Group (เอเวอร์แกรนด์ นิว เอเนอร์จี วิเอเคิล กรุ๊ป)

แต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์เผยผลประกอบการของปี 2564 และ 2565 ออกมาว่าขาดทุนรวมราว 81,000 ล้านดอลลาร์ ก็ยิ่งสร้างความกังวลไปอีกว่าแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ออกมานั้นจะเป็นไปได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงน่าเป็นห่วง เพราะบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายยังคงก่อสร้างโครงการที่เริ่มต้นเอาไว้ไม่เสร็จ ทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ไปแล้วไม่พอใจและรวมตัวประท้วงด้วยการไม่จ่ายค่างวด ที่ทำให้บริษัทไม่เงินมาหมุนหรือนำไปก่อสร้างต่อได้อีก

ถ้าหากนับตั้งแต่กลางปี 2564 มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนหลายรายผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก และถ้าหากนำยอดขายของบริษัทเหล่านี้มารวมกันจะเท่ากับ 40% ของยอดขายบ้านในประเทศจีนเลยทีเดียว

ด้านรัฐบาลจีนก็จับตาปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และพยายามออกมาตรการต่างๆ มากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยค่างวด ลดระเบียบของรัฐ และเสนอเงินกู้มากขึ้นให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้วิกฤตนี้ลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นเครื่องยนต์หนึ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมาอย่างยาวนาน ทั้งยังคิดเป็น 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนด้วย

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :The Guardian,CNBC

ภาพ :Hector RETAMAL / AFP