ศัลยแพทย์ในสหรัฐฯ ปลูกถ่ายไตหมูให้แก่มนุษย์ โดยไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านในทันทีได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งอาจกลายเป็นการปูทางสู่การช่วยเหลือคนไข้หลายพันคนที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะในทุกปี
สำนักข่าว ซีบีเอสนิวส์ รายงานในวันที่ 20 ต.ค. 2564 นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ทำการปลูกถ่ายอวัยวะรูปแบบที่เรียกว่า ‘xenotransplantation’ หรือ การปลูกถ่ายอวัยวะจากสัตว์ชนิดอื่น เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยปลูกถ่าย ไต ที่ได้จากหมูดัดแปลงพันธุกรรม ให้แก่คนไข้หญิงสมองตายที่อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ โดยได้รับความยินยอมจากครอบครัวของเธอแล้ว
ไตดังกล่าวถูกเชื่อมต่อกับหลอดเลือดบนต้นขาส่วนบนของผู้รับบริจาค เก็บไว้นอกช่องท้องโดยคลุมไว้ด้วยอุปกรณ์ป้องกันตลอดระยะเวลา 54 ชั่วโมงที่นักวิจัยทำการศึกษา ซึ่งพวกเขาสังเกตเห็นว่า ร่างกายผลิตปัสสาวะและครีเอตินิน (creatinine) ในระดับปกติเทียบเท่ากับสิ่งที่พบเห็นได้ในผู้รับการปลูกถ่ายไตแบบปกติ และไม่พบสัญญาณว่าร่างกายต่อต้านอวัยวะดังกล่าว
ดร.โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี ซึ่งเป็นผู้นำการผ่าตัดครั้งนี้ ระบุในแถลงการณ์ว่า กระบวนการที่เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของการปลูกถ่ายอวัยวะ และผลที่ออกมาดีกว่าที่เขาคาดไว้เสียอีก
ขณะที่นาย แชด เอซเซลล์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของ ‘LiveOnNY’ องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งคอยดูแลการบริจาคอวัยวะและเนื่อเยื่อในนครนิวยอร์ก ระบุว่า นี่เป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเหลือเชื่อ “เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ในวงการของเรา และนี่เป็นการมอบความหวังใหม่ให้แก่ผู้ที่กำลังอยู่ในบัญชีรออวัยวะ ในขณะที่การวิจัยอันแสนสำคัญนี้คืบหน้าต่อไป”
ทั้งนี้ ดร.มอนต์โกเมอรีกล่าวว่า การใช้อวัยวะของสัตว์มาปลูกถ่ายให้คน ไม่ใช่แนวความคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อวัยวะที่ปลูกถ่ายจากสัตว์สู่มนุษย์นั้นเข้ากันไม่ได้ และจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านในทันที แต่การดัดแปลงพันธุกรรมของหมูเจ้าของอวัยวะไม่ให้มีเอนไซม์ที่ร่างกายมนุษย์ต่อต้าน ทำให้การปลูกถ่ายนี้เกิดขึ้นได้
อนึ่ง เครือข่ายการปลูกถ่ายและการจัดหาอวัยวะ (OPTN) เผยว่า ขณะนี้ในสหรัฐฯ มีผู้ที่กำลังอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายถึง 106,728 ราย ในจำนวนนี้มากกว่า 90,000 รายเป็นการปลูกถ่ายตับ แต่จำนวนอวัยวะบริจาคกลับน้อยกว่ามาก โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกันยายนปีนี้ มีการปลูกถ่ายอวัยวะในทุกประเภทเพียง 31,361 ครั้งเท่านั้น