สรุป “มาตรการเยียวยา” ช่วยเหลือประชาชนทุกโครงการช่วงโควิด-19 ระบาด

สรุป “มาตรการเยียวยา” ช่วยเหลือประชาชนทุกโครงการช่วงโควิด-19 ระบาด รัฐเยียวยาคนกลุ่มไหนใครได้รับเงินช่วยเหลือเท่าไหร่เช็คที่นี่

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วยเหลือชาวนา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องโดยสรุปโครงการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

มาตรการด้านการเงิน  
1.สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน และผู้ประกอบการ รวมไปถึงเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ภายใต้หลักเกณฑ์ผ่อนปรนสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก

2. พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และให้สามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเติมสภาพคล่องแก่การดำรงชีวิตและการทำธุรกิจ ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย  
เป็นการสนับสนุนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เพิ่มเติมอีกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน 2565 และอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ อาทิ ผู้ช่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ คนพิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมอีก 300 นาน 2 เดือนเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือน พ.ย. -ธ.ค. 2564

มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน  

1. การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม33 เรารักกัน สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33  อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมเพิ่มสิทธิ ม33เรารักกัน 2,000 บาท โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่าย 30 มิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

2. โครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดสูงสุด  โดยการอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 166.90 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนละ 5,000 บาท โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ใน 13 จังหวัด จะได้รับ 2 เดือน เป็นจำนวน  10,000 บาท ส่วนอีก 16 จังหวัดเพิ่มเติม จะได้รับ 1 เดือน จำนวน 5,000 บาท 

3.ครม.ไฟเขียว อนุมัติกรอบวงเงิน 1,320 ล้านบาท (ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯเพิ่มเติม พ.ศ.2564) ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในโครงการบรรเทาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเด็กเล็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนเงิน 2,000 บาท ต่อเด็กนักเรียน 1คน

มาตรการลดภาระค่าครองชีพ
 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาทตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13 ล้าน 6 แสนคน

 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน รวม 1,200 บาท ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน

มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  
1.โครงการคนละครึ่งเฟส3   วงเงินไม่เกิน 3,000 บาท ใช้จ่ายวันละไม่เกิน 150 บาท เริ่มเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

2.โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”  โครงการนี้จะเป็นโครงการใหม่ ซึ่งโดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ E -Voucher  ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้สิทธิ 5,000 -7,000 บาท

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs 
โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จ่ายเงินเยียวยา จำนวน 3,000 บาทต่อหัวของจำนวนลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน สูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการส่งเสริมและรักษาการจ้างงาน  เป็นเวลานาน 3 เดือน ตามมติของ ศบศ. 

มาตรการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 
มาตรการระยะที่ 2  ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564  คาดว่าถ้าเราร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 
วงเงิน 13,604 ล้านบาท
ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 4.68 ล้านคน
โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65  (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน-31 ตุลาคม 2564  ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2564-28 กุมภาพันธ์ 2565
เงื่อนไขจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้คือ ราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่