บริษัท ไฟเซอร์ เผยผลการทดสอบ ยาเม็ดรักษาโควิด-19 ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นทดลอง สามารถลดโอกาสที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้เกือบ 90%
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ย. 2564 บริษัท ไฟเซอร์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นจากการทดสอบยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ที่ยังอยู่ในขั้นทดลองของพวกเขาซึ่งมีชื่อว่า ‘แพกซ์โลวิด’ (Paxlovid) พบว่า มันสามารถลดโอกาสที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจะเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ถึง 89% หากผู้ป่วยได้รับยาเร็วพอ
ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในงานแถลงข่าวของไฟเซอร์ โดยไม่มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนจะเปิดเผย และยังไม่ได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ (peer review) หรือตีพิมพ์ในวารสารใด อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์ระบุว่า พวกเขาจะเผยข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้ในรายงานหลังการพิจารณาตรวจสอบ และในรายงานที่ยื่นให้สำนักงานจัดการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เพื่อขออนุมัติใช้งาน
นายอัลเบิร์ต บอร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ทางบริษัทมีแผนจะยื่นข้อมูลให้ FDA ตรวจสอบโดยเร็วที่สุด อาจจะก่อนวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งจะมาถึงในวันที่ 25 พ.ย.นี้ และหวังว่า ยาตัวนี้ซึ่งควรใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่าง ริโทนาเวีย (ritonavir) จะถูกส่งถึงประชาชนให้สามารถใช้มันได้ที่บ้าน ก่อนที่พวกเขาจะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ยาเม็ด แพกซ์โลวิด มีชื่อในขั้นทดลองว่า PF-07321332 ถูกออกแบบมาเพื่อหยุดไวรัสโควิด-19 ไม่ให้เพิ่มจำนวน และการใช้งานร่วมกับยาริโทนาเวียร์ จะช่วยชะลอการแตกตัวของมันในร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งไฟเซอร์ทดลองยาตัวนี้ในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจากไวรัสโควิด-19 โดยอาสาสมัครจะแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาจริง หรือยาหลอกแบบสุ่มภายใน 3 วัน กับ 5 วัน หลังจากพวกเขาเริ่มแสดงอาการป่วย
ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาจริงภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ มี 3 คนจากทั้งหมด 389 คน หรือคิดเป็น 0.8% ต้องเข้าโรงพยาบาลภายใน 4 สัปดาห์ ขณะที่จากจำนวนผู้รับยาหลอก 385 คน มีผู้ป่วยถึง 27 คน หรือ 7% ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และมี 7 คนที่เสียชีวิต ส่วนผลการทดสอบในกลุ่มที่ได้รับยาหลังแสดงอาการ 5 วัน ก็มีผลลัพธ์คล้ายกันที่ 1% กับ 6.7% ตามลำดับ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ไฟเซอร์บอกด้วยว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับยาจริง 19% เปิดอาการไม่พึงปรารถนา ขณะที่มีผู้ได้รับยาหลอกเกิดอาการ 21% แต่พวกเขาไม่เปิดเผยว่า อาการดังกล่าวคืออะไร