1 พ.ย.2564 การเปิดเรียนภาคที่ 2/2564 ถือเป็นการเดินหน้าเปิดเรียนในรูปแบบ On-site หรือ เรียนแบบปกติที่โรงเรียน พร้อมกันทั่วประเทศของ โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หลังจากที่โรงเรียนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆมาโดยตลอด
แม้จะมีเสียงคัดค้านการเปิดเทอมครั้งนี้อยู่ไม่น้อยจากผู้ปกครอง นักวิชาการ และภาคสังคมที่เกรงจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ และใหญ่ ในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงขั้นมีการตั้งคำถามตามมาว่า “ใครจะรับผิดชอบ” หากเกิดการระบาดเป็นระลอกใหม่ขึ้นมาอีก
แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องยอมรับว่ามี เสียงสะท้อนไม่น้อยไปกว่ากัน ที่สนับสนุนการให้บุตรหลานไปเรียนแบบ On–site ที่โรงเรียน เพราะมองถึงปัญหาอุปสรรคที่ผู้ปกครองต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงกำกับดูแลการเรียนของลูกๆ หลานๆ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น จนไม่มีเวลาทำงานหาเลี้ยงชีพ
ทำให้ “ตรีนุช เทียนทอง” รมว.ศึกษาธิการ ยืนยันการเปิดเรียนในรูปแบบ On-site หรือเรียนแบบปกติที่โรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ ในภาคเรียนที่ 2/2564 จะจัดการเรียนรูปแบบดังกล่าวได้หรือไม่นั้นให้ขึ้นอยู่กับความพร้อม และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพฯ ซึ่งหากไม่สามารถจัดรูปแบบ On-site ได้ ก็ให้เลือกรูปแบบอื่นๆ ใน 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสม ได้แก่ On-air เรียนผ่าน DLTV, On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชัน, On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสานและเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงร่วมกันกำหนดแนวทาง มาตรการกำกับติดตามการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 นี้อย่างเคร่งครัด
ในส่วนของ ศธ.ได้ออก ประกาศเรื่องหลัก เกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) กำหนดให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ โดยในส่วนของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ที่ ศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สธ.กำหนด
โดยเงื่อนไขหลักของ มาตรการ Sandbox : Safety Zone in School รองรับการเปิดภาคการศึกษาที่ 2/2564 จัดการเรียนการสอนแบบ on-site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่ง “ทีมการศึกษา” ขอฉายภาพให้เห็น ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ในส่วนของมาตรการ ให้เข้มงวด 6 มาตรการหลัก (DMHT–RC) ได้แก่ Distancing เว้นระยะห่าง, Mask wearing สวมหน้ากาก, Hand washing ล้างมือ, Testing คัดกรองวัดไข้, Reducing ลดการแออัด และ Cleaning ทำความสะอาด 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ได้แก่ Self-care ดูแลตัวเอง, Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว, Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่, Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน, Check สำรวจตรวจสอบ และ Quarantine กักกันตัวเอง
ทั้งยังมี 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาแบบไป-กลับ ได้แก่ 1.สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID 2.ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble จัดนักเรียนเว้นระยะห่างในห้องเรียน 3.จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4.จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5.จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ 6.ควบคุมดูแลการเดินทางเข้า-ออกสถานศึกษา (Seal Route) และ 7.จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา
นอกจากนี้ ครูและบุคลากรในสถานศึกษาต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วไม่น้อยกว่า 85% รวมถึงประเมินความเสี่ยง (TST) 1 วันต่อสัปดาห์
พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ใช้มาตรการปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่สีเขียว เพิ่มเติมการสุ่มตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ ครูและบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไม่น้อยกว่า 85% รวมถึงประเมิน TST 1 วันต่อสัปดาห์
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ใช้มาตรการปฏิบัติเช่นเดียวกับพื้นที่สีเขียว เพิ่มเติมการสุ่มตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ ครูและบุคลากรในสถานศึกษาได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วไม่น้อยกว่า 85% ประเมิน TST 2 วันต่อสัปดาห์
พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ปฏิบัติตามมาตรการ เข้มงวด 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาแบบไป-กลับ เน้น School Pass และ Small Bubble สถานประกอบกิจการ กิจ กรรมที่อยู่รอบรั้วสถานศึกษา ผ่านการประเมิน TSC+ Covid Free setting มีการสุ่มตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วไม่น้อยกว่า 85% รวมถึงประเมิน TST 3 วันต่อสัปดาห์
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ปฏิบัติตามมาตรการเดียวกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพิ่มการสุ่มตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ ครูและบุคลากรได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วไม่น้อยกว่า 85% รวมถึงประเมิน TST ทุกวัน
ที่สำคัญคือ ทั้ง ศธ. และ สธ.ยังเรียกร้องให้ผู้ปกครองนักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยให้กับลูกๆ หลานๆ ก่อนมาโรงเรียน
และจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโรงเรียนในสังกัดขอเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2/2564 ในรูปแบบ On-Site ในวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัด/ กรุงเทพฯ ไปแล้วกว่า 10,000 แห่ง และจะทยอยเปิดเพิ่มอีกในวันที่ 8 และวันที่ 15 พ.ย.นี้
ซึ่งถึงวันนี้ หลังการเปิดเรียนแบบ On-site มากว่า 1 สัปดาห์ ก็เกิดกรณีความวุ่นวายจากผลการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 ของครูและนักเรียนโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรพ์ จ.มุกดาหาร ด้วยชุดตรวจ ATK ที่ผลออกมาเป็นบวกลวงจำนวนมาก
“ทีมการศึกษา” มองว่ามาตรการต่างๆ ที่ ศธ. และ สธ.ออกมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ ค่อนข้างเข้มงวดและรัดกุม หากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันเอาจริงเอาจัง ไม่มองข้ามแม้แต่เรื่องเล็กน้อย
แต่ที่เราอดจะห่วงไม่ได้ คือพฤติกรรมของคน เพราะเมื่อใดที่การปฏิบัติตามมาตรการเกิดความ “หย่อนยาน” ก็มีสิทธิ์ที่จะได้เห็นคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นในโรงเรียนแน่นอน
หากสังคมไทยอยากเห็นการเปิดเรียนรูปแบบ On-site เพื่อให้เด็กๆได้เรียนหนังสือเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างมีความสุข และปลอดเชื้อโควิด-19 เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ต้องไม่ลืมการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล โดยเฉพาะหัวใจสำคัญ คือการ “รวมพลัง-การ์ดอย่าตก” ในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง…!!!
ทีมการศึกษา