กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจอผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” รายแรกในไทย ชาวอเมริกันมาจากสเปน ตรวจพบจากระบบ Test and Go ผลแล็บล่าสุด 99.92% เชื่อมีรายต่อไป แต่ขออย่าตระหนก
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 ธ.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) ว่า 2-3 วันที่ผ่านมามีข่าวลือจนอาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนก สับสน จึงอยากทำให้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการตรวจสอบเรื่องการกลายพันธุ์มาโดยตลอดทุกสัปดาห์ และในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2564) ภาพรวมยังพบเป็นโควิดสายพันธุ์เดลตา 99.87% และอีก 0.13% เป็นสายพันธุ์อัลฟา โดยตั้งแต่เปิดประเทศก็มีการเฝ้าระวังผู้ที่เข้ามาจากช่องทางต่างๆ ยังพบการติดเชื้อเดลตาส่วนใหญ่ ส่วนน้อยเป็นอัลฟา สำหรับการตรวจสายพันธุ์มี 3 แบบ โดยอย่างเร็วคือ RT-PCR แต่ถ้ายังสงสัยต้องเอาพิสูจน์ให้แน่ชัดในขั้นตอนที่ 2 คือ ดูรหัสพันธุกรรมบางส่วน และหากต้องการให้สมบูรณ์ที่สุดคือต้องตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลา 5-7 วัน
ทั้งนี้ หากตรวจพบการหายไปของตำแหน่งเดลตา 69-70 (HV69-70) โดยไม่พบอย่างอื่นก็จะสันนิษฐานว่าเป็นอัลฟา หากเจอ K417N ก็น่าจะเป็นเบตา แต่หากพบ L452R น่าจะเป็นเดลตา ซึ่งในส่วนของโอมิครอนนั้นต่างกันเพราะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ถ้ามีการหายไปของเดลตา 69-70 และตรวจพบมีการกลายพันธุ์ที่ K417N ด้วย ให้สันนิษฐานว่าเป็นโอมิครอนก่อน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุต่อไปถึงตัวอย่างที่ส่งมาให้ตรวจจาก Test and Go ตรวจพบเบื้องต้นว่าอาจจะเป็นโอมิครอน จากนั้นแจ้งกรมควบคุมโรคดำเนินการสอบสวนโรค จะไม่รอช้าจนกระทั่งพิสูจน์ชัด โดยสรุปตัวอย่างผลตรวจสายพันธุ์ผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย ส่วนใหญ่เป็นเดลตาและสายพันธุ์ย่อยของเดลตา โดยมีโอกาสเป็นโอมิครอนอยู่รายเดียว
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากสเปน พบเบื้องต้นมีการหายไปของเดลตา 69-70 และ K417N จึงมีโอกาสที่จะเป็นโอมิครอน เมื่อหาอีก 2 ตำแหน่ง คือ T478K และ N501Y เมื่อมี 2 ตัวนี้เข้ามา แม้จะเป็นการตรวจเบื้องต้น ก็เรียกว่าน่าจะเป็นโอมิครอนมากทีเดียว นี่คือหลักการของห้องแล็บ ขณะที่ตัวอย่างเก็บมาอยู่ในระยะแรกของการติดเชื้อ (30 พ.ย. 2564) เชื้อจึงน้อย เมื่อนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจึงไม่สมบูรณ์
จากนั้นจึงขอตัวอย่างใหม่เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 พบว่ามีเชื้อมากขึ้นในตัว เทสต์ซ้ำปรากฏว่าให้ผลเหมือนเดิม คือบวกใน 3-4 ตำแหน่ง เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเป็นโอมิครอนมีสูงมาก โอกาสที่จะเป็นโอมิครอน 99.92% ขาดเพียงความสมบูรณ์ตรง Spike Glycoprotein นิดหน่อยเท่านั้น
“แน่นอน 99.92% ก็สรุปว่าเป็นได้เลยในภาษาชาวบ้านสรุปว่าเป็นได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ ตัวอย่างที่เก็บมารอบที่ 2 ก็จะทำซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความมั่นใจ 100% ให้ได้ว่าตกลงเป็นโอมิครอนจริงหรือไม่
แต่ ณ วันนี้ขอให้สรุปเบื้องต้นก่อนว่าน่าจะเป็นโอมิครอน จากนี้จะให้เครือข่ายแล็บส่วนอื่นๆ ช่วยกันคอนเฟิร์มด้วย ในเบื้องต้นขณะนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นโอมิครอน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นโอมิครอนรายแรกที่ตรวจพบในประเทศไทย โดยเป็นคนที่เดินทางมาจากสเปน”
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้เกิดจาก Test and Go ที่ตรวจ RT-PCR การที่จะปรับเปลี่ยนการตรวจเป็นรูปแบบอื่นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นรายนี้ก็อาจจะหลุดไปถ้าไม่ได้ตรวจ RT-PCR ส่วนข่าวลืออื่นไม่มี ขอความกรุณาทำความเข้าใจ และถึงจะเป็นโอมิครอน เมื่อมีรายที่ 1 ก็เชื่อจะต้องมีรายที่ 2-3 ตามมา แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตระหนกตกใจ คงเว้นประเทศไทยประเทศเดียวไม่ได้ จึงยังต้องต้องทำมาตรการต่างๆ ต่อไป ส่วนฝ่ายที่ตรวจจับจะทำอย่างเข้มข้นต่อไป รวมถึงตรวจชายแดนใต้มากขึ้น หลังที่มาเลเซียพบผู้ป่วยโอมิครอนแล้ว
ส่วนกรณีผู้ป่วยชาวแอฟริกันติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูรนั้น ตรวจเบื้องต้นแล้วเป็นสายพันธุ์เดลตา.