ตะลึง! นักวิทยาศาสตร์ “อียิปต์” ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสแกนพระศพองค์ฟาโรห์ “อเมนโฮเทป” เก่าแก่กว่า 3,500 ปี พบหลายเรื่องราวน่าประหลาดใจ

นักวิทยาศาสตร์อียิปต์ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสแกนดูใต้หน้ากากครอบพระศพองค์ฟาโรห์ “อเมนโฮเทป” เก่าแก่กว่า 3,500 ปี ผู้เคยปกครองอียิปต์เมื่อกว่า 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้พบหลายเรื่องราวน่าประหลาดใจ

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซาฮาร์ ซาลีม ศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยไคโร ในอียิปต์ เปิดเผยว่า นักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีสแกนดูภายใต้หน้ากากครอบพระศพ ของมัมมี่องค์ฟาโรห์ “อเมนโฮเทป” ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 3,500 ปี และเคยปกครองอียิปต์ระหว่างปีที่ 1525 ก่อนคริสตกาล จนถึงปีที่ 1504 ก่อนคริสตกาล 

โดยนักวิจัยใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์ และซีทีสแกน ตลอดจนโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องแตะต้องมัมมี่เลย เนื่องจากมัมมี่ร่างนี้อยู่ในสภาพบอบบาง และเป็นมัมมี่อดีตกษัตริย์อียิปต์โบราณเพียงร่างเดียว ที่ค้นพบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ยังไม่ได้เปิดทำการศึกษาข้างใน 

มัมมี่ขององค์ฟาโรห์อเมนโฮเทป ถูกค้นพบที่เมืองลักซอร์ ทางตอนใต้ของอียิปต์ เมื่อปี 2424 หรือเมื่อ 140 ปีก่อน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการศึกษาสภาพมัมมี่ครั้งนี้ นอกจากทำให้นักวิจัยได้เห็นพระพักตร์ภายใต้หน้ากากมัมมี่แล้ว ยังได้ทราบอายุ สภาพร่างกาย เป็นการไขปริศนาลี้ลับต่างๆ เกี่ยวกับการทำมัมมี่ และการนำพระศพลงฝังในสุสาน

โดยผลการสแกนพบว่า ฟาโรห์อเมนโฮเทป มีพระชนมพรรษา 35 พรรษา ขณะสิ้นพระชนม์ มีความสูง 169 เซนติเมตร ทรงผ่านการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และมีฟันสมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนี้ทรงเป็นฟาโรห์พระองค์แรกที่ถูกทำมัมมี่ด้วยท่าไขว้แขน และเป็นองค์สุดท้ายที่ไม่ได้ถูกนำสมองออกไปจากกะโหลก ส่วนสาเหตุการสิ้นพระชนม์ คาดว่า อาจมาจากอาการบาดเจ็บ หรือการประชวรด้วยโรคบางอย่าง. 

Aljazeera