‘CHIVID’ แอปพลิเคชันดียุคโควิด-19 พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ปูทางสู่การแพทย์แห่งอนาคต

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น แนวคิดการรักษาผู้ป่วยจากที่บ้าน (Home Isolation) และ กักตัวรักษาในชุมชน (Community Isolation) กลายเป็นแนวคิดที่ต่อยอดให้บุคลากรในส่วนต่างๆ สามารถนำมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ ยิ่งเมื่อผสานกับเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ ก็ทำให้แนวทางการรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน และกักตัวรักษาในชุมชนประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเทคโนโลยีการสื่อสารล่าสุดซึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาในชื่อ ‘CHIVID’ ก็นับเป็นตัวช่วยที่อำนวยความสะดวกในการรักษาและติดตามผลกลุ่มผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังนับเป็นการปูทางสู่การแพทย์แห่งอนาคต ที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดตาม วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยจากระยะทางไกล ในขณะที่ผู้คนเองก็ลดการเดินทางไปยังสถานพยาบาล จากเหตุผลเรื่องความสะดวกและเวลาในการเดินทาง ความแออัดของโรงพยาบาล ทั้งยังเป็นการช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ อันถือเป็นเทรนด์ใหม่ทางการแพทย์ทั่วโลกอีกด้วย

รู้จัก ‘CHIVID’ แอปพลิเคชันดียุคโควิด-19 พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

แอปพลิเคชัน CHIVID พัฒนาขึ้นโดยสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ได้จับมือกับบริษัทพัฒนานวัตกรรมและซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ ‘บริษัท เมดเอนไซ จำกัด’ (Medensy) พัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID ขึ้นมาช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการติดตามอาการและดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) และโรงพยาบาลสนาม ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้ชื่อ CHIVID: AI-Driven Community/Home Isolation-Based Electronic Health Record during COVID-19 pandemics ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการลมหายใจเดียวกันของกลุ่ม ปตท. อันเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน และส่งเสริมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโรคโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง

จากความตั้งใจจริงในการคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยตอบสนองการทำงานได้จริง ประกอบกับการได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน CHIVID มาพร้อมสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ แก้ไขปัญหา รวมถึงสามารถลดช่องว่างและข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ลงไปได้ ทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบุคลากรด้านการแพทย์ มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะผสานความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านระบบสารสนเทศและความรู้ด้านการแพทย์ เข้าไปประกอบกัน เพื่อให้เกิดเป็นแอปพลิเคชันที่สนับสนุนการทำงานได้จริง ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน อีกทั้งผู้ป่วยยังได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง มีความรู้สึกปลอดภัย เนื่องจากมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ในขณะที่การใช้งานแอปพลิเคชันก็ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานของผู้ป่วย

ความน่าสนใจของ แอปพลิเคชัน CHIVID คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้การใช้งานจริงง่ายต่อทั้งตัวผู้ป่วยในการส่งข้อมูลสุขภาพ และบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตามวินิจฉัยอาการ โดยลดทอนระบบและขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไป เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อการใช้งานมากขึ้น ทั้งนี้ยังสามารถ ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตประจำวัน โดยทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน LINE เพื่อให้มีความสะดวกในการใช้งานสำหรับผู้ป่วย ตั้งแต่การลงทะเบียน การส่งข้อมูลเข้าระบบ จนถึงการคัดกรองอาการ อีกทั้งยังได้นำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลก่อนการวินิจฉัยของแพทย์ เทคโนโลยีลักษณะนี้เองที่ทำให้การทำงานผ่านระบบเป็นเรื่องง่ายดาย อย่าง ‘PACMAN’ ซึ่งเป็น AI ที่นำมาใช้ใน CHIVID เป็นระบบแปลงผลภาพถ่ายเป็นเลข ผู้ป่วยเพียงแค่ส่งภาพถ่ายตัวเลขที่ปรากฏบนเครื่องวัด อาทิ ค่าระดับออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจ เข้าในระบบ AI จะแปลงรูปภาพตัวเลขเป็นค่าตัวเลขในระบบประมวลผลได้ทันที ในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเช่นปัจจุบัน นี่จึงถือเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดขั้นตอนและแบ่งเบาภาระของแพทย์ได้อย่างดี ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็รู้สึกสะดวกและไม่ยุ่งยาก

ขณะนี้แอปพลิเคชัน CHIVID ได้ใช้จริงใน 4 โรงพยาบาลแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลบางปะกง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ CHIVID นั้น ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ป่วยโควิดที่อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลที่เข้าร่วม หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะแจ้งผู้ป่วยให้ลงทะเบียนใช้งานระบบผ่านแอปพลิเคชัน LINE ในการติดตามอาการต่อไป ซึ่งในการติดตามอาการนั้น ผู้ป่วยจะต้องส่งข้อมูลสุขภาพรายวันผ่านทาง Line Official Account ที่ลงทะเบียนไว้ ในการส่งอัปเดทอาการป่วยรายวันนั้น ระบบได้มีการพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถกรอกข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยมีการนำ AI ชื่อ PACMAN เข้ามาช่วยในจุดนี้นี่เอง ซึ่งเพียงผู้ป่วยเพียงถ่ายรูปค่าจากหน้าจอ Pulse Oximeter รุ่นอะไรก็ได้ ระบบจะแปลผลภาพถ่ายเป็นตัวเลขให้อัตโนมัติพร้อมคำแนะนำ

อำนวยความสะดวกบุคลากรทางการแพทย์

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่งานล้นมือ สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน CHIVID เพื่ออำนวยความสะดวกดังนี้

1. ใช้สำหรับการยืนยันรับผู้ป่วยใหม่เข้าระบบ

2. ใช้ดูรายการผู้ป่วยปัจจุบันในระบบ สามารถเรียกดูรายการผู้ป่วยในระบบทั้งหมด พร้อมรายละเอียดส่วนตัว และค่าสัญญาณชีพล่าสุด ประกอบด้วย ความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด (SpO2) อุณหภูมิร่างกาย (Temperature) ชีพจร (Pulse) ค่าความดันโลหิต (Blood Pressure) และอัตราการหายใจ (Respiratory Rate) นอกจากนี้ในจุดนี้จะแสดงผลการแจ้งเตือนเมื่อจำผู้ป่วยมีค่าสัญญาณชีพที่ผิดปกติไป รวมถึงทำการสั่งยาและให้การรักษาที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยก็สามารถทำได้ในหน้านี้เช่นเดียวกัน

3. ใช้บันทึกความคืบหน้าอาการของผู้ป่วย

4. ใช้ติดตามสถานะการส่งยาและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ผู้ป่วย

5. ใช้ประเมินอาการ และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา

ระบบ CHIVID นับเป็นระบบการจัดระเบียบคนไข้ที่สามารถแยกผู้ป่วยตามทีมรักษา หรือพื้นที่รับผิดชอบได้ เพื่อให้ดูแลและติดตามผู้ป่วยได้ง่าย อีกทั้งยังมีฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกแพทย์อื่นๆ เช่น พิมพ์เวชรระเบียนเพื่อใช้เบิกจ่าย ออกใบรังรองแพทย์ รวมถึงยังมีหน้า Dashboard ที่ใช้สำหรับดูภาพรวมผู้ป่วยในแต่ละวัน วันต่อวันได้อีกด้วย