“Google Play” ประกาศเปิดระบบเรียกเก็บเงินทางเลือก “alternative billing systems” ตามกฎหมายใหม่ของประเทศเกาหลีใต้ 

กูเกิล (Google) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Google Play ประกาศเปิดระบบเรียกเก็บเงินทางเลือก หรือ alternative billing systems ตามกฎหมายใหม่ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในกรณีนี้จะรวมถึงระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิล (Apple) ด้วย

จากกรณีที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้ออกนโยบายที่มีชื่อเล่นว่า anti-Google law ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีใจความสำคัญในการห้ามไม่ให้กูเกิล และแอปเปิล บังคับให้นักพัฒนาต้องใช้ระบบการชำระเงินจากยักษ์ใหญ่ทั้งสอง แต่นักพัฒนาจะต้องมีทางเลือกว่า จะใช้ระบบเก็บเงินทางเลือก หรือใช้ระบบเก็บเงินของกูเกิล

แน่นอนว่า การที่นักพัฒนาสามารถมีช่องทางเก็บเงินทางเลือกเป็นของตัวเอง ฟากฝั่งของแพลตฟอร์มอย่าง Google Play และ App Store ของกูเกิลและแอปเปิล จะต้องสูญเสียรายได้จากค่าคอมมิชชั่นที่เคยได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

เว็บบล็อกอย่างเป็นทางการของ Google Developers ฉบับภาษาเกาหลีใต้ ก็ระบุไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เพียงแต่กูเกิลได้เน้นย้ำว่า ระบบเรียกเก็บทางเลือกจะไม่มีการป้องกันแบบเดียวกับของกูเกิล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมโดยผู้ปกครอง (parental controls), การจัดการระบบสมัครสมาชิก, การซัพพอร์ตในด้าน Google Play gift cards, ระบบชำระเงินแบบ Family และระบบโปรแกรมของรางวัล Play Points

พร้อมกันนี้ กูเกิลได้บอกด้วยว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในระบบปฏิบัติการ Android มีผู้ใช้ Play Store gift cards ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน และมีผู้ใช้งานโปรแกรม Play Points มากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งสามารถกล่าวได้ง่ายๆ ว่า ก็เป็นการขู่ทางอ้อมของกูเกิล ถ้าอยากจะใช้ระบบดังกล่าว การชำระเงินด้วยช่องทางของกูเกิล ผู้ใช้งานจะยังได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมที่เคยเป็นมา

รายละเอียดสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการใช้ระบบเรียกเก็บเงินทางเลือก กูเกิลจะมีการอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่จากซิลิคอน วัลเลย์ ทั้งกูเกิลและแอปเปิล ต่างลดค่าคอมมิชชั่นลง โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กูเกิลลดค่าคอมมิชชั่นสำหรับแอปพลิเคชันประเภทบอกรับสมาชิกเหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแอปพลิเคชันประเภทสื่อเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่แอปเปิล ได้ผ่อนปรนการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่นให้กับบริษัทที่มีขนาดเล็ก สำหรับธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

ที่มา: Google, TechCrunch