“NASA” เตรียมส่งยานอวกาศ “ไซคี” สำรวจดาวเคราะห์น้อย ค้นหาความลับกำเนิดโลก

หลังจากใช้เวลาตรียมการมานานหลายปี องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) เตรียมที่จะส่งยานสำรวจลำใหม่ไปยังดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี โดยนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ภารกิจครั้งนี้จะช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจที่มาที่ไปของโลกมากยิ่งขึ้น

ในเวลานี้ วิศวกรหลายคนที่ห้องปฏิบัติการ Jet Propulsion Laboratory ขององค์การนาซ่า ที่ตั้งอยู่ในเมืองพาซาดินา รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังทำการตรวจสอบความพร้อมของยานอวกาศไซคี (Psyche) ที่ถูกวางแผนไว้ว่า จะเป็นยานลำแรกที่ถูกส่งออกไปโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยที่มีส่วนประกอบเต็มไปด้วยธาตุโลหะ ที่ชื่อว่าไซคี ซึ่งมีพิกัดอยู่ห่างจากโลก 2,400 ล้านกิโลเมตร และถ้าการสำรวจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทีมงานเชื่อว่า จะช่วยเปิดเผยความลับบางส่วน ว่าโลกของเรากำเนิดมาได้อย่างไร

ลินดี เอลคินส์-แทนทัน หัวหน้าปฏิบัติการสำรวจไซคี จากมหาวิทยาลัย Arizona State University ซึ่งร่วมพัฒนาโครงการนี้กับนาซ่า บอกกับ ผู้สื่อข่าววีโอเอ ว่า ทีมงานรู้สึกตื่นเต้นกับความก้าวหน้าของการเตรียมงานนี้อย่างมาก

เอลคินส์-แทนทัน ซึ่งเป็นผู้นำทัวร์ชมห้องปฏิบัติการนี้ ได้พาผู้สื่อข่าวไปชมยานอวกาศไซคี ที่พร้อมนำไปติดกับจรวดและส่งขึ้นไปในอวกาศแล้ว หลังทีมงานต้องใช้เวลาไปถึง 11 ปีในการพัฒนาและสร้างยานลำดังกล่าว

สำหรับการเดินทางสำรวจอวกาศของโครงการนี้ นาซ่า ตั้งภารกิจของยานไซคีให้ทำหน้าที่สร้างแผนที่ และศึกษาว่า ดาวเคราะห์น้อยนี้มีอายุเท่าใดแล้วและมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ดาวเคราะห์น้อยไซคีเป็นส่วนแกนที่มีส่วนประกอบผสมของเหล็กและนิกเกิล ของดาวเคราะห์ในยุคแรก ซึ่งถือองค์ประกอบสำคัญของระบบสุริยะจักรวาล

มาเรีย เดอ โซเรีย วิศวกรของปฏิบัติการสำรวจไซคี อธิบายว่า สมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อ้างอิงอยู่คือ ดาวเคราะห์น้อยนี้เป็นแกนของดาวเคราะห์ ที่หลงเหลือมาจากการกระแทกในห้วงอวกาศ จนเปลือกนอกหลุดออกไป เหลือแต่เท่าที่เห็นให้ศึกษา

เดอ โซเรีย กล่าวว่า การศึกษาไซคี จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการก่อกำเนิดและที่มาของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลกและระบบสุริยะด้วย

นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า แกนของโลกนั้นมีลักษณะเดียวกับของดาวเคราะห์น้อยไซคี แต่เพราะการศึกษาแกนโลกโดยตรงนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยไซคี จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการก่อตัวของระบบสุริยะ รวมไปถึงกลุ่มดาวเคราะห์หินต่าง ๆ เช่น ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร ได้

ลินดี เอลคินส์-แทนทัน จากมหาวิทยาลัย Arizona State University กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นน่าจะช่วยตอบคำถามที่หลายคนมักเฝ้าถามกันว่า “อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ดาวเคราะห์เป็นแหล่งที่พักอาศัยของสิ่งมีชีวิตได้”

เอลคินส์-แทนทัน เปรียบเทียบการก่อกำเนิดของดาวดาวเคราะห์เป็นเหมือนกับการอบเค้ก ดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ก็เป็นเหมือน แป้ง ไข่ และเนย ที่นำมาสู่การกำเนิดของโลก ดังนั้น การสำรวจไซคีน่าที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พบส่วนผสมที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน ซึ่งอาจเป็นส่วนผสมที่ทำให้ดาวเคราะห์หินดวงหนึ่งกลายเป็นดาวที่พักพิงของชีวิตต่าง ๆ ได้นั่นเอง

ยานสำรวจลำนี้ มีกำหนดที่จะถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะถึง โดยเส้นทางนั้นจะต้องบินผ่านดาวอังคาร ก่อนจะไปถึงดาวเคราะห์น้อยไซคี ซึ่งคาดว่า การเดินทางครั้งนี้จะใช้เวลาราว 3 ปีครึ่ง และเมื่อเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยนี้แล้ว ยานอวกาศจะทำการโคจรรอบดาวดวงดังกล่าวเป็นเวลา 21 เดือน

นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยไซคีนี้ยังจะมีการทดสอบเทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ด้วยเลเซอร์ ซึ่งจะช่วยให้การรับส่งข้อมูลระหว่างยานสำรวจที่อยู่ในห้วงอวกาศที่ไกลโพ้นกับโลก ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ