“NASA” เตือนภัย!! เตรียมรับมือ “พายุสุริยะ” คาดทำระบบเน็ตล่มนานนับเดือน

NASA จับตา เตือนภัย เตรียมรับมือ “พายุสุริยะ” คาดถึงจุดสูงสุดปี ค.ศ.2025 อาจทำให้อินเทอร์เน็ตล่มยาวเป็นเดือนๆ

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “@อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ออกโพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า “NASA เตรียมการรับมือพายุสุริยะ 2025 อย่างไรบ้าง”

เช้านี้ให้สัมภาษณ์โฟนอินรายการข่าว เกี่ยวกับกระแสความกังวลเรื่องที่บอกว่า นาซ่ากำลังจับตา “พายุสุริยะ” ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยจะถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 และคาดว่ามีโอกาสเกิน 10 เปอร์เซ็น ที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มยาวนานเป็นเดือนๆ !?

ซึ่งวันก่อน ก็ได้โพสต์อธิบายเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว ว่าเป็นการตีความกันไปเอง ทาง NASA ยังไม่เคยมีออกประกาศเตือนอะไรเกี่ยวกับเรื่องพายุสุริยะรอบนี้ และะสิ่งที่นาซ่าและหน่วยงานอื่นๆ พยายามทำ ก็คือหาวิธี “เตือนภัย” ให้ทันท่วงที ก่อนที่พายุสุริยะจะมาถึงโลก จะได้ป้องกันดาวเทียมและระบบไฟฟ้าต่างๆ ได้ทันท่วงที (อ่านโพสต์เก่า ที่ https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/pfbid0RzchSrjYJpQWRpFc86LZUtEaUJxV9AepBV3S7MRTtvpb5QtdFADSzqPhqF6DL6V4l)

วันนี้เลยขอเอาข้อมูลจากข่าวของ usatoday.com ที่คนเอาไปแชร์อ้างอิงกันว่า จะเกิดวันสิ้นโลก “Internet apocalypse” ขึ้นนั้น มาสรุปให้ฟังอีกทีนึงครับ จะได้สบายใจกันมากขึ้น

พายุสุริยะ (solar storm) เป็นคำที่ไม่ใช่ศัพท์ทางการทางวิทยาศาสตร์ แต่คำที่ผู้คนเรียกกันเอง ใช้เมื่อมีอนุภาคและพลังงาน เช่น ลมสุริยะ (solar wind) เปลวสุริยะ (solar flare) และ ก้อนมวลสารจากโคโรนา หรือ CME (coronal mass ejection) ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์อย่างรุนแรง จนอาจเกิดปัญหาขึ้นกับระบบดาวเทียมที่โคจรรอบโลกได้
ลมสุริยะ เกิดขึ้นจากการแผ่กระจายตัวออก ของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า จากโคโรนา (corona) ซึ่งเป็นพลาสมาชนิดหนึ่งที่อยู่บนชั้นบรรยากาศด้านนอกสุดของดวงอาทิตย์ และอนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่เร็วมาก ถึง 1-2 ล้านไมล์ต่อชั่วโมง (ดูในรูปประกอบ จะเห็นว่า ในขณะที่แสงอาทิตย์เดินทางถึงโลกในเวลา 8 นาที ลมสุริยะจะใช้เวลา 4 วัน) และส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลกเราได้ รวมไปถึง อนุภาคของโคโรนาและการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า จากเปลวสุริยะและ CME ที่ปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเปรียบได้กับมี “พายุ” จากดวงอาทิตย์ พุ่งเข้าใส่โลกของเรา
ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าปรากฏการณ์ CME นั้นจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีค่าสูงสุดในทุก 11 ปี หรือก็คือคาดการณ์กันว่าจะสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 นี้ และทำให้ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมการทำงานที่เกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าสูงสุดในช่วงนั้น เรียกว่า เกิด “solar maxiumum โซลาร์แม็กซิมั่ม” ขึ้น และโลกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยอาจจะเกิด “พายุแม่เหล็กโลก (geometric storm)” ขึ้น ซึ่งส่งผลรบกวนบดบังสัญญาณของดาวเทียม การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ ระบบอินเตอร์เน็ต และระบบสายส่งไฟฟ้า จนบางคนกลัวว่ามันจะเป็นการล่มสลายทางเทคโนโลยี
แต่จริงๆ แล้ว ความน่าจะเป็นที่พายุสุริยะจะถึงขนาดสร้างความเสียหายกับระบบอินเตอร์เน็ตได้แบบนั้น ยังต่ำมาก โดยจากผลการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 2021 ของ Sangeetha Abdu Jyothi ผู้เชี้ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัย the University of California, Irvine ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สรุปว่า ใน 10 ปีข้างหน้านี้ มีโอกาศอยู่เพียง 1.6% ถึง 12% ที่ระบบอินเตอร์เน็ตจะถูกรวบกวนเป็นเวลานานได้ อันเนื่องจากพายุสุริยะ .. แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผลการศึกษาได้ประเมินว่า จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อินเตอร์เน็ตจะล่มได้มากกว่าเอเชีย อยู่สูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อวัน
องค์การนาซ่า ได้เตรียมการรับมือกับเรื่อง พายุสุริยะ มาโดยตลอด ด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ ด้าน Heliophysics (เฮลิโอฟิสิกส์ คือ ฟิสิกส์ที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์) เพื่อศึกษาและพยากรณ์ สภาพภูมิอวกาศ (space weather) ด้วยการใช้ยานอวกาศหลากหลายลำที่คอยติดตามการเกิดกิจกรรมของดวงอาทิตย์ขึ้น
ล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว นาซ่าได้ส่งจรวดปล่อยยาน Parker Solar Probe ที่จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการป้องกันไม่เกิดหายนะอินเตอร์เน็ตอย่างที่กังวลกัน โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 นาซ่าได้ส่งจรวด Alliance Delta IV Heavy ขึ้นจากท่าปล่อยจรวด Complex 37 ที่แหลมคานาเวอรัล ซึ่งในจรวดนี้มียาน Parker Solar Probe ที่จะมุ่งหน้าไปยังดวงอาทิตย์ และในปี 2021 ก็ได้เข้าใกล้พื้นผิวของดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสามารถเข้าไปถึงโคโรนา ที่อยู่ในบรรยากาศชั้นบนของดวงอาทิตย์และมีกระแสลมสุริยะเกิดขึ้น
ที่จุดนี้เอง แม้ว่าจะอยู่ในสภาพร้อนจัดรุนแรงก็ตาม ที่ยานโพรบ Parker Solar Probe ได้เก็บข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ และทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ว่าทำไมอนุภาคของลมสุริยะถึงได้พุ่งเร็วระดับซุปเปอร์โซนิก (เร็วกว่าเสียง) และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพภูมิอวกาศได้ ดังเช่น ทำให้ทราบว่า ลมสุริยะนั้น ได้รับการเติมพลังจากพลังงานในรูปของ เจ็ตขนาดเล็ก (เรียกว่า jetlet ) ที่บริเวณฐานของโคโรนา ทำให้ลมสุริยะถูกเร่งความเร็วและร้อนขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในก้าวย่างที่สำคัญของการไขปริศนาเกี่ยวกับฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์
ยิ่งไปกว่านั้น นาซ่ายังได้จัดทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่าง ปัญญาประดิษฐ์ และ ข้อมูลดาวเทียม ที่จะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้รู้ถึงสภาพภูมิอวกาศที่เลวร้ายได้ คล้ายกับไซเรนแจ้งเตือนพายุ มันจะทำนายได้ว่า พายุสุริยะจะโจมตีโลกที่บริเวณใด ในเวลาเตือนภัยล่วงหน้า 30 นาที ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการเตรียมและป้องกันความเสียหาย ที่อาจเกิดกับระบบสายส่งไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ
ทีมวิจัยนานาชาติ จากห้องปฏิบัติการ the Frontier Development Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล อย่าง นาซ่า , สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา , และกระทรวงพลังงาน สหรัฐ ได้ร่วมกันใช้ เอไอ ในการหาความเชื่อมโยงระหว่างลมสุริยะ กับ การรบกวนสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งด้วยวิธี “deep learning” ของเอไอ จะทำให้นักวิจัยสามารถฝึกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้ถึงรูปแบบความเชื่อมโยงได้ จากเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้น และนาซ่า หวังว่า วันหนึ่งเราจะสามารถแจ้งเตือนภัยพายุสุริยะให้กับระบบไฟฟ้าและระบบดาวเทียมทั่วโลก ได้อย่างทันท่วงทีข้อมูลจาก https://www.usatoday.com/…/nasa-internet…/70361827007/ ภาพประกอบจาก https://www.nasa.gov/mis…/sunearth/spaceweather/index.html”

ขอบคุณข้อมูล – ภาพ เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์”