“NASAMS” ระบบป้องกันภัยทางอากาศสหรัฐฯ ที่ส่งให้ยูเครนใช้รับมือรัสเซียถล่มทางอากาศ

NASAMS ระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ ที่เคยใช้ปกป้องทำเนียบขาว ส่งถึงมือกองทัพยูเครน เพื่อปกป้องกรุงเคียฟจากการโจมตีของรัสเซีย มาพร้อมกับมิสไซล์นำวิถี AMRAAM ที่ยิงแล้วลืมและยิงได้ไกลด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เรธีออน มิสไซล์ แอนด์ดีเฟนส์ ในกลุ่มเรธีออน เทคโนโลยีส์ ได้รับสัญญาสั่งซื้อมูลค่า 182 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อสั่งซื้อระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศแบบ National Advanced Surface-to-Air Missile System หรือ NASAMS ที่เป็นโซลูชันป้องกันภัยทางอากาศประยุกต์ สำหรับป้องกันภัยทางอากาศระดับกลาง จำนวน 6 หน่วย โดยคาดว่าจะถูกนำไปใช้ในการป้องกันภัยทางอากาศจากมิสไซล์นำวิถีให้กับยูเครน เพื่อป้องกันภัยทางอากาศรักษาชีวิตของประชาชนและทรัพย์สิน อันจะทำให้ยูเครนเป็น 1 ใน 12 ชาติที่มีระบบชนิดนี้จัดการภัยคุกคามจากครุยส์ มิสไซล์ เครื่องบิน และ อากาศยานไร้นักบิน ทั้งนี้ ระบบ NASAMS ถือเป็น 1 ในแพ็กเกจอาวุธทันสมัยที่สหรัฐฯ ส่งมอบให้กับยูเครน เพื่อช่วยเหลือหลังจากถูกกองกำลังทหารของรัสเซียบุกรุกประเทศ

National Advanced Surface-to-Air Missile System หรือ NASAMS คืออะไร

NASAMS ระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับกลางแบบประยุกต์ ที่ออกแบบโดย เรธีออน มิสไซล์ แอนด์ดีเฟนส์ สหรัฐอเมริกา และบริษัท คองสเบิร์ก ดีเฟนส์ แอนด์ แอร์โรว์สเปซ์ นอร์เวย์ (Kongsberg Defence & Aerospace หรือ KDA) เป็นโซลูชันการป้องกันภัยทางอากาศที่รวมเอาระบบหลายชนิดเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เรดาร์ เซ็นทิเนล (AN/MPQ-64 Sentinel) มิสไซล์ แอมแรม (Advanced Medium Range Air-to-Air Missile : AIM-120 AMRAAM) ศูนย์อำนวยการยิงเคลื่อนที่ของ KDA โดยการทำงานรวมเอาศาสตร์และศิลป์ของการทำสงครามเข้าด้วยกันตั้งแต่ การตรวจจับ ติดตามเป้าหมายและโจมตีทำลาย อากาศยาน โดรนไร้นักบิน และ ขีปนาวุธร่อน หรือ ครุยส์ มิสไซล์ ถูกนำมาทดแทนระบบป้องกันภัยทางอากาศที่นำวิถีด้วยเรดาร์เซมิ-แอคทีฟ แบบเก่าอย่าง MIM-23B Improved Hawk ที่ใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรศที่ 70-80 ด้วยการใช้อาวุธปล่อยนำวิถี เรดาร์แอคทีฟแบบ AIM-120 AMRAAM ที่ทันสมัยมากกว่ามาทดแทน

NASAMS อาวุธใหม่ของตะวันตก ที่ส่งให้ยูเครนใช้รับมือรัสเซียถล่มทางอากาศ

หัวใจสำคัญของการทำงาน NASAMS

สิ่งสำคัญของระบบป้องกันภัยทางอากาศ คือระบบตรวจจับและติดตามเป้าหมายอย่างเรดาร์ AN/MPQ-64 Sentinel ที่เป็นเรดาร์แบบพัลส์ดอปเปลอร์เรดาร์ 3 มิติ ในย่านความถี่ X-Band มีลักษณะเป็นแผ่นจาน สัญญาณสี่เหลี่ยมหมุนได้ ตั้งอยู่บนฐานล้อลากเพื่อการเคลื่อนที่ไปกับรถฮัมวี่ พร้อมทั้งเครื่องปั่นไฟในตัวที่ให้กำลังไฟ DC ขนาด 115/200 โวลต์ 10 kW 400 Hz โดยเชื่อมต่อกับตัวควบคุมการยิงผ่านสายไฟเบอร์ออปติก มีระยะตรวจจับราว 75 ไมล์ หรือ 120 กม.สำหรับรุ่น AN/MPQ-64F1 Improved Sentinel ที่ใช้งานร่วมกับ NASAMS 2 ที่มอบให้กับยูเครน สามารถตรวจจับระบุฝ่าย เป้าหมายทางอากาศทั้งระดับสูงและระดับต่ำ มีความคงทนต่อการรบกวนของระบบแจมเรดาร์  

ระบบ NASAMS ใน 1 แท่นยิงจะมีท่อจรวด 6 นัด โดยสามารถแบ่งติดตั้ง ลูกอาวุธปล่อยนำวิถี แอมแรมได้ทั้ง 6 ท่อยิงหรือ 4 ท่อยิง และเสริมด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีด้วยความร้อน ระยะใกล้แบบ ไซด์ไวน์เดอร์ AIM-9X อีก 2 ท่อยิง โดยแบบที่ยูเครนได้รับคาดว่าเป็น NASAMS 2 ที่ติดตั้งแอมแรมทั้ง 6 นัด 

NASAMS อาวุธใหม่ของตะวันตก ที่ส่งให้ยูเครนใช้รับมือรัสเซียถล่มทางอากาศ

หมัดเด็ด คือ มิสไซล์ AIM-120 AMRAAM

อาวุธปล่อยนำวิถี เรดาร์แอคทีฟ แบบ AIM-120 AMRAAM คือ สุดยอดอาวุธที่กองทัพสหรัฐฯ และกองกำลังนาโตและชาติพันธมิตร เลือกใช้ติดตั้งกับเครื่องบินรบรุ่นใหม่ๆ ด้วยความสามารถที่สามารถยิงแล้วลืม นั่นคือมิสไซล์สามารถหาเป้าหมายแล้ว พุ่งเข้าทำลายได้เอง โดยไม่ต้องใช้เรดาร์นำทางตลอดเวลา เหมือนกับอาวุธปล่อย ที่นำวิถีด้วยเรดาร์เซมิ-แอคทีฟ รุ่นเก่าอย่าง AIM-7 สแปร์โรว์ ที่มีใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 อีกทั้งยังมีระยะยิงที่ไกลกว่า คือ สามารถทำลายเป้าหมายที่อยู่นอกระยะสายตาได้ แม้ว่าสแปโรว์จะถูกพัฒนาปรับปรุง จนมีรุ่นที่ใช้งานยิงจากภาคพื้นดินได้อย่าง RIM-7 ซีสแปโรว์ ที่ติดตั้งบนเรือรบ รวมทั้งรุ่นปรับปรุงแบบ RIM-162 Evolved SeaSparrow Missile หรือ ESSM ที่มีใช้งานบนเรือรบสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในตอนนี้แต่มิสไซล์แบบนี้มีระยะยิงเพียง 25 ไมล์ และยังเป็นระบบนำวิถีแบบเดิม 

การเปลี่ยนมาใช้มิสไซล์ AIM-120 AMRAAM ทำให้ ระบบป้องกันภัยทางอากาศสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ในสนามรบ เพราะชุดยิงจะไม่ใหญ่มาก สามารถกระจายได้หลายจุดเพื่อครอบคลุมพื้นที่ เมื่อเทียบกับระบบป้องกันทางอากาศพิสัยไกลขนาดใหญ่ อย่าง แพทริออต หรือ THADD ที่มีขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนรวมทั้ง ราคาแพงมากว่า 

ถ้า NASAMS ปกป้องทำเนียบขาวได้ ก็ปกป้องกรุงเคียฟจากภัยทางอากาศได้ 

กองทัพสหรัฐฯ วางใจเลือกใช้ระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS ในพื้นที่สำคัญของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเฉพาะบริเวณทำเนียบขาว หรือ White House โดยการใช้งานที่เห็นได้ชัดเจน คือ ช่วงปี 2005 ในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43 นายจอร์จ ดับเบิลยู.บุช สำหรับยูเครนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2565 ประธานาธิบดี นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้ยืนยันว่า ยูเครนได้รับ NASAMS มาป้องกันยูเครนแล้ว แต่ยังไม่ยืนว่า ได้มา 2 ชุด หรือ ครบ 6 ชุดตามที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แจ้งไว้

ความเห็นจากผู้เขียน

สงครามในยูเครนยืดเยื้อมากกว่า 7 เดือน รูปแบบของการสู้รบก็เปลี่ยนไป โดยกองทัพรัสเซียหันมาใช้การโจมตีด้วยมิสไซล์นำวิถีระยะไกล รวมทั้ง การยิงปืนใหญ่ และล่าสุดเป็นการใช้โดรนฆ่าตัวตายที่จัดหาจากอิหร่านโจมตีกำลังทหารของยูเครนด้วย การที่ได้อาวุธตะวันตกอีก 1 ชนิดมาเพื่อปกป้องกรุงเคียฟ นับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายตะวันตกและชาตินาโตยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลยูเครน ในการต่อสู้กับกองกำลังของรัสเซีย  

NASAMS ถือเป็นอีก 1 อาวุธตะวันตกที่ถูกส่งให้กองทัพยูเครนใช้งานป้องกันภัยทางอากาศ นอกเหนือจากมิสไซล์สติงเกอร์ ที่เป็นระบบต่อต้านอากาศยานประทับบ่ายิง ที่สหรัฐฯ ได้มอบให้ก่อนหน้านี้ และยังเป็นอาวุธทันสมัยอีกแบบนอกเหนือจาก มิสไซล์ต่อต้านรถถังแลยานเกราะแจเวลิน จรวดหลายลำกล้องพื้น-สู่-พื้น HIMARS และ มิสไซล์ต่อต้านเรดาร์ AGM-88 HARM ที่ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นตัวเปลี่ยนเกม สำคัญที่ทำให้ยูเครนยันการบุกของรัสเซียได้นานขนาดนี้ คงเหลือแต่การพิสูจน์ความสามารถของ NASAMS ว่าจะสามารถป้องกันการโจมตีทางอากาศ ได้จริงอย่างคำอ้างหรือไม่ และจะสอยเครื่องบินไอพ่นของรัสเซียได้หรือไม่คงต้องติดตาม.

ผู้เขียน : จุลดิส รัตนคำแปง

ที่มาข้อมูลและรูปภาพ : เว็บไซต์ kongsberg , เว็บไซต์ raytheon missiles and defense , เว็บไซต์, เว็บไซต์ วิกิพีเดีย , เว็บไซต์ thedrive