“UNFOLDING BANGKOK” โปรเจ็กต์ปลุกตำนาน วัดบางยี่เรือ วัดลับที่ไม่ควรถูกเก็บเป็นความลับของมหานคร

เริ่มกันไปแล้วสำหรับ UNFOLDING BANGKOK โปรเจ็กต์ปลุกชีวิตพื้นที่ลับๆ ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ควรจะถูกเก็บไว้เป็นความลับของมหานครแห่งนี้อีกต่อไป เริ่มต้นที่ธีมแรก Hidden Temple จัดในพื้นที่ 3 ย่านของฝั่งธนบุรีตั้งแต่พฤศจิกายนไปจนถึงธันวาคม 2565 เริ่มจากกลุ่ม วัดบางยี่เรือ วันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2565 ประกอบด้วย วัดอินทาราม วัดจันทาราม และวัดราชคฤห์ ที่เรียงร้อยทั้ง 3 วัดในเรื่องราว “จาริกแสวงบุญ”

ออกแบบเส้นทางสำรวจวัดลับๆ ฝั่งธนบุรีครั้งนี้โดย Urban Ally ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งภาคีเครือข่ายย่านบางยี่เรือ-ตลาดพลู พาย้อนอดีตไปสู่ตำนานเยาวราชแห่งฝั่งธนบุรี เรื่องเล่าการค้าขายทางน้ำที่จอแจของย่านบางยี่เรือ รวมทั้งเปิดความน่าสนใจของกลุ่ม วัดบางยี่เรือ ทั้งวัดบางยี่เรือใน วัดบางยี่เรือกลาง วัดบางยี่เรือนอก หรือก็คือวัดอินทาราม วัดจันทาราม และวัดราชคฤห์ ในปัจจุบันซึ่งเส้นทางเดินระหว่างวัดถูกเชื่อมกันด้วยคอนเซ็ปต์ “จาริกแสวงบุญ”

“สมัยก่อนย้อนไปต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การจาริกแสวงบุญไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ อย่างแค่พระพุทธบาทสระบุรีก็ยังไปยากมาก มีความเชื่อว่าหากได้จาริกแสวงบุญไปนมัสการร่องรอยของพระพุทธเจ้าถึงที่แล้วย่อมได้บุญมาก ต้องเป็นระดับเจ้านายเท่านั้นที่มีโอกาสเดินทางไป ประชาชนทั่วไปก็คือผู้ติดตามเจ้านาย ดังนั้นจึงมีค่านิยมในการสร้างรอยพระพุทธบาทตามอย่างพระพุทธบาทสระบุรีเพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปกราบไหว้ อย่างเขามอที่วัดราชคฤห์ก็เป็นเขามอที่สร้างจำลองโครงสร้างพระพุทธบาทสระบุรีแทบทุกประการ เป็นเขามอที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 หรืออย่างในวิหารรายหลังเล็กๆ ที่วัดอินทารามก็มีทั้งจิตรกรรมจาริกแสวงบุญ มีการสร้างพระพุทธบาท เขามอจำลองขึ้นซึ่งก็น่าสนใจว่าทั้งสองวัดมีการเล่าเรื่องเดียวกัน จึงเป็นที่มาของเส้นทางจาริกแสวงบุญ”

อาจารย์สิริเดช วังกรานต์ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทำวิจัยในพื้นที่บางยี่เรือให้ความหมายของจาริกแสวงบุญที่เชื่อมระหว่างวัดอินทารามและวัดราชคฤห์ โดยมีวัดจันทารามและชุมชนบางยี่เรืออยู่ตรงกลางเชื่อมระหว่าง 2 วัดนี้ ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ให้ความน่าสนใจของพื้นที่เพิ่มเติมว่า

“วิหารรายประดิษฐานพระนอนปางสีหไสยา วิหารรายตอนถวายพระเพลิง และวิหารรายประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ที่วัดอินทารามทำให้พุทธศาสนิกชนที่เข้าไปแล้วสมมติได้ว่าเสมือนขึ้นไปแสวงบุญและสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ ลังกา ตามรอยเส้นทางพระภิกษุสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 สำหรับวัดราชคฤห์นั้นมีเขามอ ซึ่งถือเป็นเขามอที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังคงเหลืออยู่ สร้างเป็นสมมติสถานเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าเช่นกัน โดยในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 เมื่อคติรอยพระพุทธบาทที่เขาสัจจพันธุ์คีรี สระบุรี ได้ทวีความนิยมมากขึ้น จึงมีการเปลี่ยนรูปและคติสัญลักษณ์ของภูเขาจำลองนี้ให้สะท้อนความหมายของพระบาทใหญ่เฉกเช่นจังหวัดสระบุรี เพื่อให้ผู้คนมาสักการะได้ เสมือนว่าได้ไปยังสถานที่จริงในแต่ละแห่งที่ห่างไกลออกไป”

และด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple ร้อยทั้ง 3 วัดและชุมชนเก่าแก่บางยี่เรือเข้าด้วยกัน ส่วนใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นสำรวจวัดหรือพื้นที่ไหนก่อน Sarakadee Lite มีพิกัดไฮไลต์ UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple วัดบางยี่เรือมาฝากกัน

เขามอวัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์) เขามอที่เก่าแก่ที่สุดในรัตนโกสินทร์

เดินจากตลาดพลูมาไม่ไกลจะเจอ วัดราชคฤห์ หรือที่ชาวชุมชนเรียกมาแต่อดีตว่า วัดบางยี่เรือเหนือ วัดบางยี่เรือใน วัดมอญ วัดบางยี่เรือมอญ ที่นี่มี Unseen ที่เป็นที่รู้จักดีคือ “หลวงพ่อนอนหงาย” หรือพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย รวมทั้งมีศาลเจ้าพ่อเขาตกเป็นที่รู้จักดีในหมู่พี่น้องไทย-จีน ส่วนที่หลายคนมักจะมองข้ามไปคือ เขามอ ที่อยู่ติดหน้าถนน เป็นเขามอที่พบหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระยาพระหลัง (หน) เก่าแก่สุดในยุครัตนโกสินทร์เลยก็ว่าได้ด้านบนประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและพระพุทธฉาย ส่วนด้านในเขามาสร้างเป็นเขาวงกตคดเคี้ยวไปมาเหมือนถ้ำของจริง ในอดีตสามารถเดินจากด้านล่างผ่านเขาวงกตขึ้นสู่ด้านบนเขามอได้

ในงาน UNFOLDING BANGKOK เขามอวัดราชคฤห์ถูกสาดแสงจัดไฟประดับ architectural lighting ออกแบบโดย LightIS and friends ใส่ความแฟนตาซีของโลกหิมพานต์ลงไปนิด เน้นจัดไฟเพื่อขับเน้นสิ่งสำคัญของเขามอ เช่น รูปปั้นช้างสมัยรัชกาลที่ 1 อาศรม ยักษ์ที่สร้างตามแบบพระพุทธบาทสระบุรีแต่เป็นงานช่างพื้นบ้านฝั่งธนบุรี เป็นต้น

Projection Mapping รอยพระพุทธบาท วัดอินทาราม

ที่วัดอินทารามมีการสร้างวิหารรายสลับกับเจดีย์รายเล็กๆ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ ความน่าสนใจคือวิหารรายแต่ละหลังมีการเล่าเรื่องพุทธศาสนาที่แตกต่างกันไป และในงาน UNFOLDING BANGKOK ก็เลือกวิหารราย 3 หลังสาดแสง Projection Mapping ในระดับความร้อนที่ไม่ทำลายจิตรกรรมฝาผนังเก่า โดยวิหารหลังแรกเป็นวิหารรายประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังตามรอยเส้นทางพระภิกษุสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 ไปจาริกแสวงบุญยังลังกา ทำให้พุทธศาสนิกชนที่เข้าไปในวิหารรูสึกเหมือนกำลังเข้าไปร่วมในขบวนแสวงบุญและสักการะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ แห่งลังกา

Projection Mapping พระนอนปางสีหไสยา วัดอินทาราม

ในวิหารพระนอนปางสีหไสยา วัดอินทาราม มีงาน Projection Mapping ที่ทางทีมผู้ออกแบบคือ ทีม DecideKit ได้ถอดจิตรกรรมฝาผนังลวดลายสำคัญของวิหารรายหลังนี้ออกมาอยู่ในโลกแสงสี ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ผีเสื้อ นก ที่ขยับปีกโบยบินไปรอบๆ ประกอบเข้ากับจิตรกรรมฝาผนังของเดิมทำให้รู้สึกว่าที่นี่เป็นกุฎิกลางป่าเสมือนจริง

Projection Mapping พระพุทธเจ้าตอนถวายพระเพลิง

หนึ่งใน Unseen ฝั่งธนบุรีที่หลายคนมักผ่านเลยคือ พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงซึ่งมีลักษณะเป็นโรงบรรจุพระบรมศพมีพระบาทยื่นออกมา ประดิษฐานอยู่ในวิหารรายหลังน้อยและถูกนำมาสาดแสง Projection Mapping ให้บรรยากาศในช่วงพุทธกาลกลับคืนมา มีดอกมณฑารพกำลังร่วงหล่นเป็นดอกไม้แห่งพุทธกาลที่จะร่วงหล่นเฉพาะช่วงเวลาสำคัญ จุดนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ห้ามพลาดและเชื่อมโยงไปสู่งานพระเจ้าเข้านิพพานแห่งวัดราชคฤห์ต่อไป

หน้าบันศิลปะจีน-ไทย ไฮไลต์วัดจันทาราม

วัดจันทารามตั้งอยู่กั้นกลางระหว่างวัดอินทารามและวัดราชคฤห์ จึงได้ชื่อว่า วัดกลาง หรือ วัดบางยี่เรือกลาง โดยในงานนี้ไม่ได้ปล่อยให้วัดจันทารามเป็นเพียงทางผ่าน แต่ยังจัดไฟชวนให้ชมหน้าบันของวัดซึ่งโดดเด่นด้วยศิลปะจีนเป็นงานปูนปั้นเครื่องตั้งโต๊ะแบบจีนซึ่งนอกจากจะเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วก็ยังสะท้อนถึงชุมชนจีนในพื้นที่บางยี่เรือ-ตลาดพลู ซึ่งว่ากันว่าที่นี่เป็นเยาวราชฝั่งธนบุรีที่มีคนจีนอาศัยอยู่อย่างคึกคักไม่แพ้เยาวราชในปัจจุบันเลยทีเดียว

เดินเที่ยว 3 วัดตั้งแต่กลางวันไปจบค่ำ

แน่นอนว่า UNFOLDING BANGKOK ครั้งนี้มีงานแสงสียามค่ำคืนเป็นไฮไลต์ที่อยากชวนคนรุ่นใหม่เปิดใจแวะเวียนมาเที่ยววัด แต่เราอยากแนะนำให้แวะมาตั้งแต่กลางวัน เพราะแต่ละวัดก็มีความลับที่น่าสนใจซ่อนอยู่ เช่นที่วัดอินทาราม ในวิหารน้อยทุกหลังมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยมากๆ ซ่อนอยู่โดยเฉพาะชุดเครื่องตั้งโต๊ะแบบจีน หรืออย่างในพระอุโบสถก็มีงานจิตรกรรมฝาผนังเป็นฉากของพระประธานที่อลังการจนไม่อยากให้พลาดชม

เดินลัดเลาะชุมชนบางยี่เรือ

ใครชอบเดินตลาดชุมชน ตลาดบางยี่เรือตอนเช้าคึกคักมากๆ เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีแค่วัตถุดิบในห้องครัว แต่ยังมีร้านเก่าแก่ เช่น ร้านยาไทย สมาคมกาแฟโบราณ และร้านลับอร่อยๆ มากมาย ส่วนใครที่มายามค่ำคืนเพื่อชมแสงสีของงานสามารถเดินตามแสงไฟสีชมพูลัดเลาะชุมชนเชื่อมทั้ง 3 วัดได้ซึ่งหลายบ้านนำอาหาร ขนม น้ำ เล็กๆ น้อยๆ ออกมาขาย หลายบ้านก็ออกมานั่งพูดคุยเล่าเรื่องของดีบางยี่เรือให้แขกแปลกหน้าได้ฟัง

ตระเวนกินร้านไม่ลับตลาดพลู

ใครชอบเดินซอกแซกชิมของอร่อยชุมชน ระหว่างทางเดินเชื่อม 3 วัด ให้มองหาตู้เซียมซีสีชาว เป็นตู้เซียมซีอาหารชุมชน รวบรวมร้านอร่อยพร้อมประวัติศาสตร์ทั้งร้านทั้งเมนูเด็ดมาให้ได้เลือกร่วมๆ 20 ร้านกันเลยทีเดียว หลายร้านไม่มีรีวิวในเว็บไซต์แต่การันตีโดยชาวชุมชนว่าอร่อยจริงจัง

Fact File

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ ของ Unfolding Bangkok ตอน Hidden Temple เปิดประสบการณ์วัดลับย่านฝั่งธนฯ ย่านวัดย่านบางยี่เรือ-ตลาดพลู ระหว่างวันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้แนวคิด จาริกแสวงบุญ ได้ที่ Urban Ally