เป็นการพัฒนาอีกขั้นของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เข้ายุคสมัย ด้วยการเพิ่มมูลค่าข้าวให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ข้าวลดแป้งลดน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และ เสริมภูมิคุ้มกันสู้โควิด ไปในตัวในผลิตภัณฑ์เดียว
อย่างที่รู้กัน ข้าวที่เรากินกันทุกวันส่วนใหญ่จะมากไปด้วยแป้งกับน้ำตาลจึงไม่ค่อยเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงทำให้มีการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา เป็นข้าว กข43 ที่มีปริมาณแป้งและน้ำตาลต่ำ
แต่ขวัญชนกกับเชษฐกานต์ เหล่าสุนทร สองพี่น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เจ้าของแมคนีน่าฟาร์ม จ.เชียงราย กลับสร้างนวัตกรรมข้าวในอีกรูปแบบ ที่ทำให้ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวเหนียวเขี้ยวงู มีส่วนผสมของพืชสมุนไพรเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการบริโภคข้าวมีสารเพิ่มภูมิคุ้ม กันให้ร่างกายสู้โควิดได้
“เราเป็นกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน USDA ของสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2560 ช่วงที่ผ่านมา การนำสินค้าไปออกบูธตามที่ต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลูกค้ามักจะสอบถามเรื่องข้าวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะข้าวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เราจึงสนใจที่จะปลูกข้าว กข43 แต่เมื่อไปติดต่อขอซื้อพันธุ์มาปลูก ไม่สามารถทำได้ เพราะทางการจำกัดโควตาให้ปลูกได้ในพื้นที่เฉพาะภาคกลาง เราอยู่ภาคเหนือปลูกไม่ได้ เลยต้องคิดหาวิธีใหม่เพื่อที่จะได้มีข้าวอย่างที่ลูกค้าต้องการ”
ขวัญชนก และ เชษฐกานต์ ลำดับที่มาของผลิตภัณฑ์ข้าวตัวใหม่…เมื่อไม่มีพันธุ์ให้ปลูก เลยเสาะหาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน จนรู้ว่าผักเชียงดาที่คนภาคเหนือนิยมปลูกไว้กินเป็นผักเครื่องเคียงกับข้าวนั้น มีคุณสมบัติที่ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
แต่ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านนั้นเป็นเพียงคำเล่าขานสืบต่อกันมา ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน เลยต้องพึ่งพานักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพะเยาช่วยตรวจวิเคราะห์ว่าจะมีสารสำคัญที่ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในกระ แสเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้จริงหรือไม่
ในที่สุดได้คำตอบ คำเล่าขานเรื่องผักเชียงดาเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะมีปริมาณสารพฤกษเคมีในกลุ่มฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการเกิดไกลเคชัน และช่วยยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase
ที่สำคัญยังมีความปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบัน ที่กินไปนานๆจะทําให้เกิดผลข้างเคียง ทําลายตับ ไต ท้องอืด และท้องเฟ้อได้ เมื่อได้ข้อมูลความจริงทางวิทยาศาสตร์มาช่วยยืนยันถึงปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภค สองพี่น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จึงนำผักเชียงดามาบดสกัดคลุกผสมเคลือบเมล็ดข้าวสาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปหุงกินได้เลย
“เราทดลองทำตลาดตอนแรกๆ มีคนนำไปหุงกินปรากฏว่า เขาบ่นว่าไม่ได้ผล เราเองก็งงทำไมถึงเป็นอย่างนั้น สอบถามไปถึงได้รู้ ก่อนจะหุง เขาเอาข้าวไปซาวน้ำล้างทำความสะอาดก่อน มันเลยทำให้สมุนไพรที่เคลือบข้าวสารละลายถูกเททิ้งไปกับน้ำล้างข้าวหมด มันถึงไม่ได้ผลในการลดเบาหวาน เลยต้องกลับมาคิดหาวิธีแก้ปัญหา”
ในที่สุดเลยต้องกลับมาตั้งหลักทำแบบเดิมๆให้ถูกจริตล้างข้าวก่อนหุงของคนไทย นั่นคือขายข้าวสารที่มีผักเชียงดาบดแบบแยกถุงใส่คู่กันไป…ซาวน้ำล้างข้าวเสร็จแล้วค่อยตักผงผักเชียงดาใส่ลงไปในข้าวพร้อมหุง
แต่ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมออกมาได้เป็นผลสำเร็จ เตรียมที่จะทำตลาด ดันมาเกิดโควิด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีประโยชน์มากขึ้นเลยเพิ่มขมิ้นชันบดที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเข้าไปด้วย
“ตอนแรกเราไม่ได้คิดจะเอาขมิ้นชันมาใช้หรอก อยากจะเอาฟ้าทะลายโจรผสมลงไปมากกว่า แต่ข้อมูลการวิจัยพบว่า ฟ้าทะลายโจรนั้นกินทุกวันไม่ได้ จะมีผลต่อตับ และทำให้เป็นดีซ่านได้ ไม่เหมือนขมิ้นชันกินทุกวันได้ไม่มีปัญหา มันจึงลงเอยมาที่ขมิ้นชัน”
สนใจจะลองกินข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอร์รี และข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่ได้ทั้งผักเชียงดา ขมิ้นชัน ไปสู้กับเบาหวานและโควิด สอบถามได้ที่ 09-9159-8744.