ความร้อนแรงของกระแส “คริปโตเคอร์เรนซี” ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มมูลค่าขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ความหวือหวาของค่าเงิน ดึงดูดความนิยมจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความรู้ในด้านเทคโนโลยี
รวมทั้งความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบธุรกิจที่ดาหน้ากันออกมา แถลงข่าวเปิดรับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลและเหรียญของไทยและต่างประเทศสามารถมาชำระค่าสินค้าและบริการของตนเองได้ แม้จะรู้ดีว่าสินทรัพย์เหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
โดยสามารถชำระค่าสินค้าบริการได้ทั้งกับผู้ประกอบการ โรง ภาพยนตร์ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกค่าย ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าทุกค่าย และที่ชัดเจนที่สุดก็คือการประกาศของห้างใหญ่แห่งหนึ่งร่วมกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งเป็นเจ้าตลาดประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อจัดตั้ง “ชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล” และรับชำระสินค้าและบริการในห้างสรรพสินค้าในเครือ รวมไปถึงพันธมิตรธุรกิจจำนวนมาก
ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเตือนถึงการลงทุนและไม่สนับสนุนการลงทุน และการนำสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี่ไปซื้อสินค้าและบริการ
โดยให้เหตุผลถึงความผันผวนสูงของมูลค่าที่มีสูงมากขึ้นลงรวดเร็ว การเก็บรักษาที่ต้องใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยี และเสี่ยงกับการโจรกรรมข้อมูลบุคคลรั่วไหล จนถึงอาจไปพัวพันกับขบวนการฟอกเงิน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนและร้านค้าได้รับความเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ก.ล.ต.และ ธปท.ไม่ได้ห้ามการซื้อขายหรือเข้าไปลงทุนใน “คริปโตเคอร์เรนซี” อย่างสิ้นเชิง โดยยืนยันว่า เห็นประโยชน์จากการนำไปต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลาย แต่ก็ได้แสดงความกังวลอย่างชัดเจน รวมทั้งได้ออกกฎเกณฑ์ และเตรียมออกเกณฑ์เพิ่มเติมออกมาดูแลเงินดิจิทัล “Digital Currency” เพื่อปกป้องความเสียหายให้กับนักลงทุน
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอสรุปความเป็นห่วงของ ก.ล.ต. และ ธปท.ว่ามีประเด็นใดบ้าง ทั้งเรื่องความเสียหายที่อาจเกิดกับนักลงทุน ความกังวลต่อภาพรวม และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน สะท้อนมุมมองเอกชนที่เกี่ยวข้องถึงก้าวต่อไป “ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี” ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หลัง “ทางการ” ได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจน
มูลค่า “ตลาดคริปโตฯ” พุ่งกระฉูด
เรามาเริ่มต้นจากมูลค่า “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งเป็นเงินในโลกเสมือน ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการซื้อขายมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมากและราคายังมีความผันผวนสูงมาก
สำนักงาน ก.ล.ต.ได้รายงานสรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลประจำสัปดาห์ ระบุว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลก มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงถึง 2.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 74.91 ล้านล้านบาท (33 บาทต่อเหรียญฯ) โดย 40.75% มาจากมูลค่าของบิทคอยน์ (Bitcoin) ขณะที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อวันสูงถึง 130,210 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับหุ้น ทองคำและน้ำมัน แม้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมากเมื่อเทียบกับราคาหุ้น
โดยข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ณ 6 ธ.ค. ระบุ ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (Year to date) ดังนี้ ทองคำติดลบ 6.32% ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (MSCI Emerging market) ลบ 6.02% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี บวก 1.43 % ตลาดหุ้นไทยบวก 9.58% ตลาดหุ้นโลก (MSCI World) บวก 15.88% ตลาดหุ้นแนสแดก บวก 22.95 % น้ำมันบวก 43.22% เหรียญบิทคอยน์บวก 71.35%
เหล่านี้ล้วนส่งผลให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่เฮละโลเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในต่างประเทศ และประเทศไทยที่พบว่าจำนวนบัญชีนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ณ สิ้นเดือน ต.ค.64 มีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 1.77 ล้านบัญชี
ขณะที่ข้อมูล ก.ล.ต.ระบุว่า ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่มาจากบุคคลธรรมดาในประเทศ โดยในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายของบุคคลธรรมดาในประเทศรวมกันสูงถึง 190,000 ล้านบาท บุคคลธรรมดาต่างประเทศ 39,000 ล้านบาท และนิติบุคคลต่างประเทศ 14,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตในไทยตลอดปี 64 สิ้นสุด ณ 6 ธ.ค.64 มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.56 ล้านล้านบาท
โดยสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ในตลาด Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาต เรียงตามลำดับ ดังนี้ นำโดยเหรียญสกุล KUB , JFIN, Six, The SandBox และ Ethereum โดยมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้กลับมาสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาคริปโตเคอร์เรนซีโลก โดยพบว่า เหรียญสกุล Bitcoin และ Ethereum ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า เหรียญสกุลอื่นๆ โดยเริ่มมีการกระจายตัวของการซื้อขายของเหรียญต่างๆมากขึ้น
ทั้งนี้ การซื้อขายเหรียญดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา หากมองเฉพาะผู้ประกอบการไทยคือ KUB, JFIN และ SIX ในกระดานซื้อขายในไทยมีความผันผวนสูงมาก โดยราคาได้เดินหน้าทำสถิติทำราคาสูงสุด (All Time High) เหรียญ KUB ราคาพุ่งสูงสุดไปที่ 500 บาท ก่อนจะมีแรงขายทิ้งดิ่งลงมาต่ำสุดของวันเดียวกันที่ราคา 150 บาท เหรียญ JFIN พุ่งสูงสุดที่ 248 บาท ก่อนจะร่วงลงมาต่ำสุดที่ 88 บาท และเหรียญ SIX สูงสุด 19.8 บาท และลงมาต่ำสุดที่ 6.1 บาท
ก.ล.ต.เตือน-ออกเกณฑ์ดูแลลงทุน
จากกรณีดังกล่าว ทำให้ ก.ล.ต.ออกมาเตือนว่า กำลังติดตามการซื้อ ขายของเหรียญดิจิทัลอย่างใกล้ชิด
โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ก.ล.ต.ร่วมกับตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้มีการประสานงานเพื่อหารือถึงกระบวนการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
ถือเป็นการทำงานเชิงรุก ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เนื่องจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากในช่วงที่ผ่านมา โดยทางตำรวจพร้อมให้การสนับสนุนด้านการติดตามผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีการกระทำผิดเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนั้น ยังเร่งดำเนินการเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลในการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
โดย ก.ล.ต.มองว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้บริการทางการเงินรูปแบบ DeFi ซึ่งเป็นบริการทางการเงินรูปแบบ กระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง มาใช้ในธุรกรรมหลากหลาย เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ อาจอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด มีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวงมีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว
ก.ล.ต.จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความชัดเจน โดยห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใดๆบนแพลตฟอร์ม DeFi และห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง
ธปท.กังวลใช้แทนเงิน-ห่วงเสถียรภาพ
ในช่วงเดียวกัน ธปท.ก็ได้ออกมาแสดงความกังวล และแสดงออกชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลซื้อขายสินค้าและบริการเพราะเกรงว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศ
โดย ธปท.ได้ออกแถลงการณ์ชัดเจนว่า กำลังติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขอย้ำว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนให้ได้รับความเสียหาย
และในระยะต่อไป หากนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไป โดย ธปท. กำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ขณะที่นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า ธปท.มีความกังวลในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Blank Coin) เพราะราคามีความผันผวนสูง มูลค่าไม่คงที่ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับการนำมาเป็น “สื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ” โดย ธปท.กำลังหารือกับ ก.ล.ต.เพื่อดูแลความเสี่ยง และการแข่งขันต้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง (Stable Coin) จะดูแลในลักษณะธุรกิจอี-มันนี่ โดยดูแลในส่วนโครงสร้างชำระเงิน และความปลอดภัย
“การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งอาจไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้จะเกิดความเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค ความผันผวนด้านราคา, และมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้ชำระ เช่น ภัยไซเบอร์ อาจถูกแฮ็กเจาะระบบ เกิดการสูญหายของสินทรัพย์ หรือเหรียญได้”
นอกจากนั้น หากนำมาใช้อย่างแพร่หลายอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพด้านการเงิน เพราะถ้าคนมาถือเงินดิจิทัลเพิ่มขึ้น การดูแลรักษามูลค่าของเงินจะน้อยลง เพราะคนใช้เงินบาทน้อย ขณะที่ความสามารถ ธปท.ควบคุมดูแลภาวะการเงินสอดคล้องภาวะเศรษฐกิจลดน้อยลง ภาวะดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ เงินทุนเคลื่อนย้าย และการดูแลความผันผวนจะทำได้ยากขึ้น และเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาจจะไม่สามารถป้องกันได้
เอกชนชี้หาจุดสมดุลหนุนเศรษฐกิจโต
หลังจากการออกมาของ 2 หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลการลงทุนและดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ เหมือนกับการออกมาปรามหรือแตะเบรกวงการสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ประกอบการทั้งหลายลดความร้อนแรงลง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวที่หวือหวาของเหรียญทั้ง 3 เหรียญเริ่มนิ่งลง
โดยต้องยอมรับและชื่นชมหน่วยงานรัฐทั้งสองที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องความเสียหายกับนักลงทุนที่จะเกิดขึ้นต่อไป รวมไปถึงการออกมาเตือนไม่สนับสนุนการใช้จ่ายและมีความสุ่มเสี่ยงเพราะกฎหมายไม่ยอมรับ แม้ว่าไม่สามารถต้านทานของกระแสของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปทุกวันได้หากจะมีการลงทุนและใช้จ่ายกันจริงๆในอนาคต
ขณะที่มุมมองภาคเอกชน นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กลุ่มธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน และผู้ให้บริการตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ผ่านบิทคับ ออนไลน์ มองว่า การลงทุนทางด้านสินทรัพย์ทั่วโลก
มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซีประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หากเราหวังเพียงแค่ 1% ของนักลงทุนที่เคลื่อนย้ายพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ดังนั้นโอกาสเติบโตของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีโอกาสอีกมากมายในอนาคต
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บิทคับเฉลี่ยเติบโตปีละ 1,000% จากการเป็นธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” ได้ขยับมาเป็น “สเกลอัพ” ระดับยูนิคอร์น รายที่สองของประเทศไทย ปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านศูนย์ของบิทคับเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 25,000 ล้านบาท จากสมาชิกที่ซื้อขายประจำ 1.2 ล้านบัญชี มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนจำนวนมากเพิ่มฐานอายุจากก่อนหน้าระหว่าง 20-30 ปี แต่หลังจากการเปิดตัวของยานแม่ SCBX ที่ประกาศร่วมลงทุนกับบิทคับ ได้สร้างกระแสตื่นตัวให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก มีนักลงทุนในตลาดสินทรัพย์อื่นๆเคลื่อนย้ายเข้ามาจำนวนมากไม่จำกัดอยู่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เดิมๆอีกต่อไป
“การลงทุนทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (Digital Asset) เป็นเมกะเทรนด์ของโลกและในอนาคตจะมีขนาดใหญ่กว่าการลงทุนในรูปแบบเดิม (Physical Asset) เป็นเทรนด์ของโลก ในอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าตัว ทุกคนต้องปรับตัว ซึ่งเราสามารถใช้เทรนด์นี้สร้างอีโคซิสเต็มขึ้นเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ ภาครัฐสามารถใช้เทรนด์เหล่านี้สร้างมูลค่าการเติบโตเศรษฐกิจได้”.
ทีมเศรษฐกิจ