วันที่ 26 ส.ค. 2564 ที่ศาลาว่าการกทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัย แถลงออนไลน์ สรุปการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านระบบ Webex Meet เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. โดยร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยต่อวันประมาณ 4,100 ราย ซึ่งถือว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงทรงตัวอยู่ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงมานั้น
” ประเมินตามหลักการได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้สามารถฉีดได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งการลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาในศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (CommunityIsolation : CI) และการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation :HI) ได้เร็วทำให้ลดการแพร่เชื้อในชุมชนและครอบครัว ปัจจุบันอัตราการครองเตียงใน CI มีอยู่ประมาณร้อยละ40-50 ของจำนวนเตียงทั้งหมดที่มีอยู่ราวๆ10,000 เตียงใน70แห่งทั่วกทม. ส่วนหนึ่งมาจากการทำ HIได้มากขึ้น”
ทั้งนี้สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข ยังได้เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว ด้วยความร่วมมือระหว่างผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน และภาครัฐ จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดและติดเชื้อในครัวเรือน ดูแลเข้มตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งต่อโรงพยาบาลทันทีหากอาการรุนแรง ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้ว 57 แห่งรองรับได้ 1,427เตียง
สำหรับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการฉีดเข็มที่ 1 แล้วจำนวนสะสม 6,717,824 ราย เข็มที่ 2 จำนวนสะสม 1,591,453 ราย ส่วนวัคซีนทางเลือกที่กทม.ดำเนินการจัดซื้อทั้งโมเดอร์นาและซิโนฟาร์มนั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการสั่งจอง ทั้งนี้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 1 ในระบบของไทยร่วมใจฯ ช่วงเดือนมิ.ย.64 สามารถตรวจสอบคิวฉีดวัคซีนใหม่ได้ที่เฟสบุ๊กไทยร่วมใจฯ หรือโทรสายด่วนวัคซีน 1516
เนื่องจากตอนนี้ได้เลื่อนคิวฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ขึ้นมาให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ กทม.มุ่งมั่นที่จะฉีดวัคซีนประชาชนทุกคนให้เร็วที่สุด เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ด้วยการจัดทีมลงพื้นที่ฉีดเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง ในชุมชน ให้กับคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ทุกพื้นที่เขต และเพื่อให้เข้าถึงคนที่ไม่สะดวกเดินทาง
ดังนั้น กทม.จึงได้เตรียมจัดรถฉีดวัคซีนถึงบ้าน (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ที่จะมีทีมแพทย์ พยาบาล นั่งรถไปฉีดเชิงรุกให้ถึงหน้าบ้าน โดยจะเคลื่อนที่ไปตามชุมชน ฉีดใกล้บ้านให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 90 ซึ่งรถฉีดวัคซีนถึงบ้าน BMV เป็นนโยบายของผู้ว่าฯกทม.ที่ต้องการให้ประชาชนในทุกคน
โดยระยะแรกจะเน้นเก็บตก ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากการเดินทางมาฉีดวัคซีนยังหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุก Bangkok CCRT อาจจะไม่สะดวก หรือร่างกายไม่พร้อมในการฉีดวันที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ รวมถึงกรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มคนเร่ร่อนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย นอกจากนี้ รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน BMV ยังช่วยลดจำนวนบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย คาดว่าจะเริ่มฉีดได้สัปดาห์หน้านี้