“กรมทางหลวง” ชี้แจง! กรณีตีเส้นถนนซิกแซกก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้าม

กรมทางหลวง ชี้แจง กรณีเส้นซิกแซกก่อนถึงทางม้าลาย ที่เพิ่งมีการเปิดภาพและเปิดใช้งานใน จ.ศรีสะเกษ จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนในพื้นที่และโซเชียล โดยกรมทางหลวง ขอชี้แจงว่า โครงการนำร่อง เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางคนเดินข้าม ที่จังหวัดศรีสะเกษ

จากข่าวการสูญเสียชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดินข้ามถนนใน กทม. เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจากทุกหน่วยงาน ร่วมกันหาทางป้องกัน และแก้ไขปัญหา ซึ่งสาเหตุหลักของกรณีนี้ คือ “ความเร็วของรถ ที่เข้าสู่ทางคนเดินข้าม” และ “การรับรู้ของผู้ขับขี่ล่วงหน้า ว่าจะมีทางข้ามถนน”

กรมทางหลวง ได้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ใช้กันในสากล มาทดลองใช้กับทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ได้แก่

  • เส้นซิกแซก (Zigzag line) ที่เป็นข่าว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าด้วยสีตีเส้นบนผิวทาง ให้ “ตระหนัก” และ “ลดความเร็ว” ลงก่อนถึงทางคนเดินข้าม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กันในสากล เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น
  • เกาะยืนพักระหว่างการเดินข้าม (Refuge Island) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่เดินช้าไม่จำเป็นต้องเดินข้ามถนนในครั้งเดียว
  • ชุดป้ายทางข้าม ชนิดสีเหลืองเขียวฟลูออเรสเซนต์ ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินข้าม ซึ่งใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ
  • ไฟฟ้าส่องสว่าง ที่ส่องไปที่พื้นทางคนเดินข้ามโดยเฉพาะ

รวมถึงการปรับปรุงกายภาพสองข้างทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่รับรู้ถึงการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมสู่ช่วงเขตชุมชน โดยได้ทำเป็นโครงการนำร่อง เป็นที่แรกในทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 2127 ตอน ศิวาลัย – สำโรงเกียรติ บริเวณชุมชน บ.หลักหินใหม่ อ.ขุนหาญ ที่จังหวัดศรีสะเกษ และทำการเก็บข้อมูลการใช้งาน Before & After Study วิเคราะห์ และประเมินผลในทุกมิติ เพื่อพัฒนา แนวทางการปรับปรุงทางกายภาพ และด้านอื่น ๆ ให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนสูงสุดในการข้ามถนนต่อไป