“กระทรวงสาธารณสุข” ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย ปี 64 มีกว่า 2,700 หน่วย ดูแลปชช. 26.62 ล้านคน ตั้งเป้าปี 65 เพิ่มเป็น 3,000 หน่วย “คนไทย” มีหมอประจำตัว 3 คน ใช้เทคโนโลยียกระดับการดูแลสุขภาพ
วันนี้ (18 ก.ย. 64)ที่ผ่านมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
ซึ่งในปี 2564 ได้ตั้งเป้าการจัดตั้งไว้ จำนวน 2,500 หน่วย และประชาชนต้องได้รับการดูแลด้วยหลัก เวชศาสตร์ครอบครัว จำนวน 25 ล้านคน ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ 12 เขตสุขภาพแล้วจำนวน 2,525 หน่วย และดูแลประชาชนด้วยกลไก 3 หมอ ครอบคลุม 26,626,736 คน ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับ กทม.ได้จัดตั้งหน่วยบริการแล้ว 178 หน่วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการจากการยกเลิกคลินิกอบอุ่น
ดร.สาธิต กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ โควิด 19 ที่ผ่านมา ได้มีการถอดบทเรียน ถึงบทบาทหน้าที่ของปฐมภูมิใน ภาวะวิกฤต ได้มีการขยายผลยกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนด้วยเทคโลโนยีในรูปแบบหน่วยบริการปฐมภูมิเสมือนจริง (Virtual PCU) ติดตามอาการ ให้คำปรึกษา รวมถึงส่งเสริมป้องกันโรค โดยผู้ป่วยและประชาชนไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดแออัด และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรค โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ พิจารณารูปแบบการให้บริการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนด 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.จัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มเป็น 3,000 หน่วย โดยมีเงื่อนไขต้องเต็มพื้นที่อำเภอ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 อำเภอ บูรณาการกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และเชื่อมโยงระบบข้อมูล Health Information Exchange (HIE),Personal Health Record (PHR) ระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิกับโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบในพื้นที่นำร่องจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดสระบุรี
2. ให้คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน ครอบคลุม 30 ล้านคน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาผ่านระบบต่างๆ และ 3. พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอให้ได้ร้อยละ 75
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิตามแผนการเสนอกฎหมายลำดับรอง ระยะที่ 2 จำนวน 8 ฉบับ โดยเกี่ยวข้องใน 3 เรื่อง คือ การบริหารจัดการข้อมูล การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ และการกำหนดรายการค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับ การจ่าย การเก็บรักษาและการเรียกคืนเงินค่าใช้จ่าย โดยมติที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ มอบให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกลั่นกรองพิจารณาเนื้อหาและดำเนินการเข้าคณะอนุกรรมการกฎหมาย
เพื่อพิจารณาต่อไป